วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ประเทศญี่ปุ่นหลังการยึดครอง (ค.ศ. ๑๙๕๒ - ๑๙๖๐) ตอนที่ 2

ค.  การปรับปรุงทางด้านสังคม
                ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะปรับปรุงประเทศตามแนวทางที่สหรัฐอเมริกาได้วางไว้ในสมัยการยึดครองสืบต่อมา  ที่มีผลให้ระบบการเมืองของญี่ปุ่นเป็นระบอบประชาธิปไตย  และระบบเศรษฐกิจเป็นระบบเสรีนิยมตามแบบสหรัฐอเมริกาก็ตาม  แต่ในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม  คนญี่ปุ่นยังคงถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะในเขตชนบท  ดังนั้นถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีระบบการเมืองใหม่และมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ  ญี่ปุ่นหลังการยึดครองก็ยังคงให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่มาก  เช่น มีการจัดตั้งสมาคมรักษาประเพณีเดิมขึ้น  ชื่อว่าสมาคมสร้างค่านิยม  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๐  (เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า  สมาคมโซกะ  งักได)  ที่มีจุดมุ่งหมายให้คนญี่ปุ่นยึดมั่นอยู่ในศาสนาพุทธนิกายนิซิเร็น  ที่สอนให้คนมุ่งช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามแนวทางการดำเนินชีวิตแบบเดิมของญี่ปุ่น
                ในด้านการศึกษา  จากการนำเอาระบบการศึกษาแบบใหม่มาใช้ตั้งแต่สมัยการยึดครอง  นับว่ามีผลต่อสังคมญี่ปุ่นมาก  เพราะการศึกษาแบบใหม่เน้นความสำคัญของแต่ละบุคคล  โดยเฉพาะในเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลทำให้เกิดความตื่นตัวในหมู่คนญี่ปุ่น  เกิดความกล้าแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ  เป็นการช่วยส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของญี่ปุ่นมากขึ้น
                ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเข้ายึดครอง  ญี่ปุ่นเกิดมีปัญหาทางสังคมที่สำคัญประการหนึ่ง  โดยเฉพาะในระยะแรกๆ  หลังสงคมยุติ  นั่นคือ  ปัญหาจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลหลายประการ  เช่น  มีคู่สมรสใหม่จำนวนมาก  รวมทั้งคู่สมรสเก่าที่กลับมาพบกันหลังสงคราม  และชาวญี่ปุ่นอยู่นอกประเทศในระหว่างสงครามได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนภายหลังสงครามยุติลง  คนเหล่านี้เองที่ทำให้จำนวนประชากรของญี่ปุ่นล้นหลาม  จนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน  เช่น  ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ  เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม  ทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาผู้ยึดครองและฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่น  ต่างตระหนักถึงปัญหาประชากรนี้  จึงได้มีการพยายามชะลออัตราการเกิดของชาวญี่ปุ่นตลอดมา  และสามารถทำได้สำเร็จตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๕๐  เป็นต้นมา
ง.  การปรับปรุงทางด้านการต่างประเทศ
                นับตั้งแต่ญี่ปุ่นได้เอกราชในเดือนเมษายน  ค.ศ. ๑๙๕๒  เป็นต้นมา  นอกจากแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ  ซึ่งญี่ปุ่นมักจะดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับสหรัฐอเมริกาตลอดเวลา  เช่น  การสนับสนุนนโยบายของสหรัฐอเมริกาในการรับรองสาธารณรัฐจีน  ในขณะเดียวกัน  ญี่ปุ่นก็ยังต้องหาทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ  ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนสมัยที่จะเกิดสงคราม  โดยจะต้องแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่กับประเทศต่างๆ  คือ
                ๑.  ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา  การสิ้นสุดการยึดครองทำให้ญี่ปุ่นมีฐานะเป็นประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์ในทางกฎหมาย  แต่ในทางปฏิบัติแล้วแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  เพราะสหรัฐอเมริกายังได้รับสิทธิที่จะมีฐานทัพอยู่ในประเทศญี่ปุ่นต่อไป  ตามข้อตกลงที่ทำกันในสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา  ในวันที่    กันยายน  ค.ศ. ๑๙๕๑  การคงฐานทัพอเมริกันในญี่ปุ่นต่อไปนี้ทำความไม่พอใจให้แก่คนญี่ปุ่นอย่างมาก  เพราะทำให้คนญี่ปุ่นมีความรู้สึกว่า  ประเทศของตนยังไม่เป็นอิสระหรือได้รับเอกราชที่สมบูรณ์  ยิ่งกว่านั้น  ยังมีข้อตกลงที่คนญี่ปุ่นไม่พอใจอย่างมาก  คือ  สหรัฐอเมริกามีสิทธิที่จะใช้กำลังทหารอเมริกันที่อยู่ในญี่ปุ่นเข้าปราบปรามการจลาจลในญี่ปุ่นได้  หากได้รับการร้องของจากรัฐบาลญี่ปุ่น  อันเป็นการให้สิทธิแก่ต่างชาติเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ  ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียอำนาจอธิปไตย  นอกจากนั้นการคงอยู่ของฐานทัพอเมริกันในญี่ปุ่นอาจจะไม่เป็นผลดีแก่ญี่ปุ่น  เพราะสหรัฐอเมริกาอาจจะนำญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามที่ญี่ปุ่นไม่ต้องการก็ได้
                ความไม่พอใจของคนญี่ปุ่นต่อสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันนี้  ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องหาทางแก้ไขสนธิสัญญาเมื่อครบกำหนด  ๑๐  ปี  ความรู้สึกของคนญี่ปุ่นที่มีต่อสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่ไม่เป็นมิตรมากขึ้น  โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่เป็นการทำลายความสัมพันธ์อันดีของประเทศทั้งสองที่เคยมีมา  เช่น  ความไม่พอใจจากการที่สหรัฐอเมริกามีนโยบายเพิ่มกำลังทหารอเมริกันในญี่ปุ่นเนื่องจากสงครามเกาหลี  ความไม่พอใจเนื่องจากปัญหาสารกัมมันตภาพรังสีจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาบนเกาะนิวกีนีในมหาสมุทรแปซิฟิก  ในวันที่    มีนาคม  ค.ศ. ๑๙๕๔  ซึ่งมีผลทำให้ลูกเรือหาปลาชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต  นอกจากนั้น  ยังมีข้อพิพาทกรณีย่อยๆ  ที่เกิดขึ้นเสมอๆ  ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างทหารอเมริกันกับคนญี่ปุ่น  เช่น  การทำงานร่วมกันระหว่างทหารอเมริกันกับคนงานญี่ปุ่นที่เป็นลูกจ้างอยู่ในฐานทัพ  ตลอดจนข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในฐานทัพอเมริกันกับชาวนารอบๆ  ฐานทัพ  เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
                ความขัดแย้งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงและเดินขบวนต่อต้านสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง  อันเป็นเครื่องยืนยันว่าความรู้สึกต่อต้านสหรัฐอเมริกาของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น  เมื่อสนธิสัญญาความมั่นคงฉบับแรกใกล้หมดอายุลงในระยะ  ๑๐  ปี  รัฐบาลทั้ง    ประเทศได้เริ่มการเจรจาแก้ไขใหม่  ใน  ค.ศ. ๑๙๖๐  แต่ผลจากการเจรจาปรากฏว่ารัฐบาลของทั้ง    ประเทศ  ยังคงมีความต้องการที่จะต่ออายุสัญญาออกไปอีก  ๑๐  ปี  เพราะต่างเห็นว่ายังมีประโยชน์ต่อกันอยู่  สหรัฐอเมริกาเองก็มีความต้องการที่จะคงฐานทัพอยู่ในญี่ปุ่นต่อไปเพื่อรักษาสันติภาพทางเอเชีย  ส่วนญี่ปุ่นต้องการความคุ้มครองทางด้านการทหาร  และขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้เงินมาดำเนินการในเรื่องนี้  การให้ฐานทัพสหรัฐอเมริกายังคงอยู่ต่อไปก็เป็นการประหยัดเงิน  ญี่ปุ่นจะได้ใช้เงินไปในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้มากขึ้น  ดังนั้น  เมื่อผลประโยชน์ตรงกัน  การเจรจาของทั้ง    ประเทศ  จึงนำไปสู่การตกลงต่ออายุสนธิสัญญานี้ออกไปอีก  ๑๐  ปี  โดยจะหมดอายุใน  ค.ศ. ๑๙๗๐
                ๒.  ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต  ญี่ปุ่นกับสหภาพโซเวียตนั้นมีความขัดแย้งกันอยู่มากตลอดมา  ทั้ง    ฝ่ายเคยทำสงครามกันมาตั้งแต่ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ในระหว่าง  ค.ศ. ๑๙๐๔ - ๑๙๐๕  โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะ  ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่    สหภาพโซเวียตได้ถือโอกาสระหว่างที่ญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่ใกล้จะแพ้  ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นใน  ค.ศ. ๑๙๔๕  ทันที  ทำให้สหภาพโซเวียตมีฐานะเป็นประเทศผู้ชนะสงครามด้วยประเทศหนึ่ง  ต่อมาใน  ค.ศ. ๑๙๕๐  สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตกลงกันทำสนธิสัญญาร่วมมือทางด้านการทหารเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น  และเมื่อมีการประชุมเพื่อทำสัญญาสันติภาพที่เมืองแซนแฟรนซิสโก  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๑  สหภาพโซเวียตได้ปฏิเสธที่จะร่วมลงนามรับรู้ในข้อตกลงกับญี่ปุ่น  ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถตกลงปัญหาความขัดแย้งต่างๆ  เพื่อยุติสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับสหภาพโซเวียตได้โดย  โกรมิโก  ผู้แทนสหภาพโซเวียตได้กล่าวโจมตีสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวอย่างรุนแรง
                ต่อมาใน  ค.ศ. ๑๙๕๔  สหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นได้เปิดการเจรจาทางการทูตกันขึ้น  โดยญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอ    ประการ  คือ
                ก.  ขอสิทธิจับปลาในน่านน้ำของสหภาพโซเวียต
                ข.  ขอคืนเกาะ    เกาะทางตอนเหนือของหมู่เกาะฮอกไกโด  ได้แก่  เกาะฮาโบไม  (Habomai)  ชิโกตัน  (Shikotan)  กุนาชิริ  (Kunashiri)  และเอโตโรฟุ  (Etorofu)  พร้อมทั้งหมู่เกาะแซคาลินและหมู่เกาะคูริล  ซึ่งสหภาพโซเวียตยึดครองไว้หลังจากสงครามโลกครั้งที่    สงบลง
                ค.  ขอให้สหภาพโซเวียตสนับสนุนญี่ปุ่น  ในการสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
                ง.  ขอให้ส่งคืนเชลยศึกชาวญี่ปุ่นที่สหภาพโซเวียตคุมขังไว้ที่ไซบีเรีย
                แต่การเจรจากลับไม่สามารถตกลงกันในข้อใดๆ  ได้เลย  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตมีแนวโน้มไปในทางลบ  สหภาพโซเวียตก็ได้ใช้นโยบายที่รุนแรงต่อญี่ปุ่น  เช่น  เมื่อญี่ปุ่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๕  สหภาพโซเวียตก็ใช้สิทธิยับยั้งในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงญี่ปุ่นจึงเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติไม่ได้  นโยบายต่อต้านญี่ปุ่นของสหภาพโซเวียตมีผลให้ญี่ปุ่นต้องยอมอ่อนข้อให้  โดยการเสนอขอเปิดการเจรจากับสหภาพโซเวียตใน  ค.ศ. ๑๙๕๕  การเจรจาครั้งที่ทั้ง    ประเทศสามารถตกลงกันเรื่องสิทธิการจับปลาเป็นผลสำเร็จ  แต่ปัญหาเรื่องขอเกาะคืนจากสหภาพโซเวียตยังไม่เป็นผล
                จากข้อตกลงที่ทำกันได้ในบางเรื่อง  ทำให้สหภาพโซเวียตยกเลิกการใช้สิทธิยับยั้งในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของญี่ปุ่นใน  ค.ศ. ๑๙๕๖  ญี่ปุ่นจึงได้เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ปัญหาที่นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองที่ยังคงดำรงอยู่  คือ  การที่สหภาพโซเวียตไม่ยอมคืนเกาะให้แก่ญี่ปุ่นตามคำขอ
                ๓.  ความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน  โดยทั่วไปแล้วนับว่าคนญี่ปุ่นมีความรู้สึกเป็นมิตรต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนมากกว่าต่อสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต  เพราะได้มีการติดต่อกันมาเป็นเวลานานและญี่ปุ่นได้ยอมรับวัฒนธรรมจีนไว้เป็นอันมาก  นอกจากนั้น  ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติก็มีความใกล้ชิดกัน  อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่มีนโยบายเรื่องการขยายอำนาจในช่วง  ค.ศ. ๑๙๕๑ - ๑๙๖๐  เพราะอยู่ในระยะเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างหนักตามโครงการก้าวกระโดดไกล  (ค.ศ. ๑๙๕๗ - ๑๙๖๐)  ทำให้ญี่ปุ่นไม่เห็นอันตรายจากจีน  โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับท่าทีของสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินนโยบายเป็นจักรวรรดินิยมมากขึ้น  นอกจากนั้น  ญี่ปุ่นยังคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นจะได้รับจากการติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  เพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนมีประชากรมากและจะสามารถเป็นตลาดรับซื้อสินค้าอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นได้เป็นจำนวนมาก  อีกทั้งยังมีดินแดนอันกว้างใหญ่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวัตถุดิบที่ล้วนแต่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ญี่ปุ่นต้องการนำมาใช้ในกิจการอุตสาหกรรม  นอกจากนี้  ญี่ปุ่นยังมีความคิดอีกด้วยว่าตนควรจะยอมรับผิดและขออภัยต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน  สำหรับความยุ่งยากที่กองทหารญี่ปุ่นได้กระทำไว้ต่อประเทศจีน  ซึ่งปรากฏว่าในระหว่าง  ค.ศ. ๑๙๓๗ - ๑๙๔๕  ที่ญี่ปุ่นรุกรานแผ่นดินใหญ่จีน  ได้สังหารผู้คนไปประมาณ  ๑๑ - ๑๕  ล้านคน  ทำให้คนราว  ๖๐  ล้านคน  ไร้ที่อยู่อาศัยและทำความเสียหายมีมูลค่าถึงประมาณ  ๖๐,๐๐๐  ล้านดอลลาร์  ญี่ปุ่นจึงต้องการเจรจาปัญหาค่าปฏิกรรมสงครามตามที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเรียกร้อง
                ด้วยเหตุนี้  ญี่ปุ่นจึงต้องการจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอย่างมาก  แต่ญี่ปุ่นก็มีอุปสรรคในเรื่องนี้อยู่  ทั้งนี้มีสาเหตุสำคัญ    ประการ  คือ
                ก.  สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้เข้าร่วมประชุมที่เมืองแซนแฟรนซิสโก  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๑  เพื่อทำสนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่นร่วมกับประเทศอื่นๆ  ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับผลของสงครามโลกครั้งที่    ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับญี่ปุ่นยังไม่ได้เจรจาตกลงกัน
                ข.  ญี่ปุ่นมีข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศว่า  จะต้องให้เป็นไปตามความต้องการของสหรัฐอเมริกา  แต่การที่สหรัฐอเมริกามีนโยบายไม่เป็นมิตรกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  ทำให้ญี่ปุ่นมีไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อนโยบายของสหรัฐอเมริกา
                ค.  ญี่ปุ่นได้ทำสัญญากับสาธารณรัฐจีนที่พร้อมจะให้การรับรองไต้หวันเป็นเอกเทศ  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๒  โดยรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไต้หวันและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง    ประเทศขึ้น  ทำให้นโยบายของญี่ปุ่นที่ต้องการจะมีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีอุปสรรค
                ง.  เป็นเพราะญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับสหภาพโซเวียตเพื่อขอทำสัญญาสันติภาพ  ด้วยญี่ปุ่นต้องการเกาะคูริล  เกาะแซคาลิน  และหมู่เกาะทางตอนเหนือ  รวมทั้ง  เกาะฮาโบไม  ชิโกตัน  กูนาชิริ  และเอโตโรฟุ  คืนจากสหภาพโซเวียต  โดยเหตุนี้  ถ้าญี่ปุ่นดำเนินนโยบายทำสนธิสัญญาสันติภาพกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจมีผลต่อการเจรจากับสหภาพโซเวียตได้  เพราะสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังมีแนวโน้มจะเป็นศัตรูกัน  ซึ่งอาจทำให้โอกาสที่ญี่ปุ่นจะขอเจรจากับสหภาพโซเวียตเพื่อขอหมู่เกาะต่างๆ  คืนล้มเหลวตามไปด้วย
                ด้วยเหตุนี้  การที่ญี่ปุ่นต้องการสถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงมีอุปสรรคอยู่มาก  อย่างไรก็ตาม  ในที่สุดญี่ปุ่นก็ต้องตัดสินใจเลือกประเทศใดประเทศหนึ่งที่ญี่ปุ่นเห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อญี่ปุ่นน้อยกว่า  ในขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์คุ้มค่าต่อญี่ปุ่นด้วย  ดังนั้น  ใน  ค.ศ. ๑๙๖๐  เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียตมีความขัดแย้งกันมากขึ้นอันเป็นผลให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจบางประการเสียใหม่  เช่น  ยกเลิกการซื้อสินค้าจากสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม  จึงต้องหันมาพึ่งพาประเทศโลกเสรีมากขึ้น  ญี่ปุ่นจึงเริ่มเจรจาติดต่อทางการค้าอย่างไม่เป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  การมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนดังกล่าว  เท่ากับญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุดนั่นเอง
                ๔.  ความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ  จุดมุ่งหมายสำคัญของญี่ปุ่นที่ต้องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอื่นๆ  ก็เพื่อเป็นหนทางนำไปสู่การมีสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อญี่ปุ่น  สาเหตุสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคแก่ญี่ปุ่น  คือ  การที่บรรดาประเทศที่เคยถูกญี่ปุ่นรุกรานในระหว่างสงครามโลกครั้งที่    ยังมีความเกลียดชังญี่ปุ่นอยู่  ทั้งยังมีความหวดกลัวการฟื้นฟูลัทธินิยมทหารของญี่ปุ่นด้วย  จึงไม่ต้องการจะเป็นมิตรกับญี่ปุ่นอย่างง่ายๆ  ดังนั้น  เพื่อแก้ไขภาพพจน์และทัศนคติดังกล่าวญี่ปุ่นจึงต้องเป็นฝ่ายยอมรับด้วยการตกลงยินยอมจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ประเทศต่างๆ  ที่ถูกญี่ปุ่นรุกรานในระหว่างสงครามโลกครั้งที่    เป็นการชดใช้ความเสียหายที่เกิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประเทศเหล่านั้น  และเป็นการลดความเกลียดชังญี่ปุ่นให้น้อยลง  เช่น  ในกรณีของประเทศไทยก็สามารถตกลงค่าปฏิกรรมสงครามกับญี่ปุ่นได้ตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๕๕  โดยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน  ๙,๖๐๐  ล้านเยน  ซึ่งญี่ปุ่นขอชำระเป็นงวดๆ  ภายในเวลา    ปี  โดยเริ่มตั้งแต่      ค.ศ. ๑๙๖๒  เป็นต้นมา  นอกจากนั้น  ญี่ปุ่นก็ได้เริ่มจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่พม่าเป็นประเทศแรกใน  ค.ศ. ๑๙๕๔  ฟิลิปปินส์ใน  ค.ศ. ๑๙๕๖  อินโดนีเซียใน  ค.ศ. ๑๙๕๘  และเวียดนามใน  ค.ศ. ๑๙๕๙  ผลการยอมรับการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามของญี่ปุ่น  นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเหล่านั้นดีขึ้นแล้ว  ยังช่วยให้ญี่ปุ่นได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกด้วย  เพราะการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามนั้น  ญี่ปุ่นไม่ได้กระทำในรูปการให้เงินช่วยเหลือเท่านั้น  แต่ได้กระทำในลักษณะของการลงทุนทางการค้า  ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นการช่วยเหลืออีกรูปแบบหนึ่งด้วย  การลงทุนในลักษณะดังกล่าวในแง่หนึ่งได้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ  ที่ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือ  แต่ในอีกแง่หนึ่งญี่ปุ่นเองก็ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนด้วย  เช่น  การช่วยตั้งโรงงานผลิตอาวุธในฟิลิปปินส์ใน  ค.ศ. ๑๙๖๘  ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องสั่งซื้ออุปกรณ์การผลิตต่างๆ  จากญี่ปุ่นต่อไปในระยะยาว  เป็นต้น  ญี่ปุ่นจึงได้ตลาดการค้าเพิ่มขึ้น  การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในต่างประเทศจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น