วันพุธที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ประเทศจีนภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

สถาณการณ์ทั่วไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

         ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ การปกครองของราชวงศ์แมนจูเสื่อมอำนาจลงอย่างเห็นได้ชัด ประเทศมหาอำนาจต่างๆ เข้ามากอบโกยผลประโยชน์และเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน โดยที่รัฐบาลจีนไม่สามารถจะป้องกันได้ ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนจึงไม่พอใจราชวงศ์แมนจู ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ดร.ซุนยัตเซน (Sun Yat Sen) ได้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์เพื่อเอกภาพชื่อ ตุงเม่งฮุย (Tung Meng Hui) ขึ้นใน ญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ชาวจีนโค่นล้มราชวงศ์แมนจูและก่อตั้งสาธารณรัฐจีน ดร.ซุนยัตเซนได้ออกหนังสือพิมพ์หมิน เป้า (Min Pao) เพื่อเผยแพร่แนวความคิดในหมู่นักศึกษาชาวจีนที่ศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕ - ๑๙๑๑ ดร.ซุนยัตเซนได้เดินทางไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาโดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนโพ้นทะเลเป็นอย่างดี ขณะที่ ดร.ซุนยัตเซนขยายแนวคิดปฏิวัติอยู่ในต่างประเทศนั้น สหพันธ์เพื่อเอกภาพได้ก่อการจลาจลต่อต้านราชวงศ์แมนจูขึ้นหลายครั้งในภาคใต้ของประเทศจีน แต่ก็ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งมีการลุกฮือขึ้นทำการปฏิวัติเป็นครั้งที่ ๑๐ ที่เมืองวูชาง (Wuchang) มนฑลเหอเป่ย (Hupeh) ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๑ จึงประสบผลสำเร็จ ขณะนั้น ดร.ซุนยัตเซนยังอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อได้รับทราบข่าวจึงรีบเดินทางกลับประเทศจีน และปีต่อมา ซุนยัตเซนได้ร่วมกับผู้มีแนวความคิดนิยมระบอบสาธารณรัฐก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นคือ พรรคก๊กมินตั่ง (Kuomintang) หลังจากนั้นก็ได้ติดต่อกับยวนซีไข (Yuan Shih K’ai) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้บัญชาการทางทหารของฝ่ายแมนจู ให้ใช้อำนาจทางทหารของตนบีบบังคับให้จักรพรรดิแห่งราชวงศ์แมนจูสละราชสมบัติ เหตุผลที่ยวนซีไขยอมทรยศต่อฝ่ายแมนจูก็เพราะเขาเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ประกอบกอบชาวจีนเสื่อมอำนาจลง และขณะนั้น ยวนซีไขเป็นผู้ที่อยู่ในฐานสามารถจะชี้ขายผลการต่อสู้ได้เพราะหากเขาตัดสินใจเข้าข้างฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมได้เปรียบทันที ดังนั้น เมื่อยวนซีไขมองเห็นลู่ทางที่ตนจะขึ้นมามีอำนาจเสียเอง จึงได้ฉวยโอกาสรับข้อเสนอของฝ่ายขบวนการปฏิวัติทันที
        เมื่อกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์แมนจู คือ พระเจ้าชวนทังยอมสละราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๙๑๒ คณะปฏิวัติได้เลือกยวนซีไขให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่การที่ยวนซีไขมีความต้องการปกครองประเทศแบบเผด็จการ ทำให้ขัดแย้งกับคณะปฏิวัติที่มีอุดมการณ์จะให้ประเทศจีนมีการปกครองแบบรัฐสภา โดยมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ซุนยัตเซนซึ่งเป็นผู้นำคนสำคัญของคณะปฏิวัติและเคยเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีน จึงได้ทำการปฏิวัติครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ แต่ซุนยัตเซนเป็นฝ่ายแพ้หนีไปอยู่ญี่ปุ่น จึงเหลือแต่คณะพรรคก๊กมิตั่ง (พรรคคณะชาติ) ยวนซีไขจึงประกาศยุบรัฐสภาและยุบคณะพรรคก๊กมินตั่งด้วย แล้วรวมอำนาจการปกครองไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้อำนาจส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของฝ่ายบริหาร ความเข้มแข็งของยวนซีไขและความสามารถในการควบคุมกำลังทหารทำให้ประเทศมหาอำนาจในเวลานั้น คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาต่างก็ให้การสนับสนุนยวนซีไข จึงทำให้ฐานะของยวนซีไขมั่นคง จีนได้พยายามที่จะปรับปรุงประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าตามแบบญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เพราะนับได้ว่าญี่ปุ่นอยู่ในฐานะเป็นมหาอำนาจในเอเชีย เห็นได้จากการที่ญี่ปุ่นมีชัยในสงครามรุสเซีย - ญี่ปุ่น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔ - ๑๙๐๕ แต่ความพยายามของจีนก็ไม่ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๑ หลังจากปฏิวัติสถานการณ์ภายในของจีนก็ยิ่งเลวร้ายลงด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
(๑) สถานการณ์ภายในจีนเองไม่มีความมั่นคง เนื่องจากความแตกแยกมีมากในระดับผู้บริหารของจีน เช่น การขัดแย้งทางความคิดในการปกครองระหว่างยวนซีไขและซุนยัตเซน เป็นต้น

(๒) ทางเศรษฐกิจได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ จีนต้องปรับปรุงประเทศมาก ทำให้จีนต้องกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อมาใช้ในการนี้ จึงเกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจและเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น

(๓) สถานการณ์นอกประเทศไม่มีผลดีต่อจีน เพราะเสถียรภาพของจีนถูกคุกคามโดยทุกประเทศที่เข้ามาติดต่อเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นซึ่งต้องการที่จะมีอิทธิพลเด็ดขาดในแมนจูเรีย

ฐานะของจีนเริ่มดีขึ้นเมื่อจีนเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้จีนได้รับผลตอบแทนบ้างเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยในสงคราม เช่น ได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตคืนมาจากประเทศที่แพ้สงคราม ได้เขตสัมปทานคืนจากเยอรมนีและประเทศสัมพันธมิตร ได้ยึดเวลาชำระค่าปรับที่มีผลมาจากกบฏนักมวย* ออกไปอีก ๕ ปี ที่มากกว่านั้นก็คือ สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาช่วยเหลือจีนมากขึ้น ในฐานะที่สหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้รับรองเอกราชและเสถียรภาพของจีนตั้งแต่ต้นตามนโยบาย “เปิดประตู” ใน ค.ศ. ๑๘๙๙** สหรัฐอเมริกาได้จัดการประชุม ๙ ประเทศขึ้นที่กรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๑ - กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๒ ที่ประชุมประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม ฮอลแลนด์ จีน ญี่ปุ่น และโปรตุเกส เพื่อลดกำลังอาวุธ และพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับตะวันออก ผลการประชุมปรากฏว่า ประเทศที่เข้าประชุมก็รับว่าจะเคารพเอกราชอธิปไตยและการปกครองภายในของจีน และให้จีนเป็นประเทศเปิดตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการ การตกลงครั้งนี้ทำให้ฐานะของจีนดีขึ้น เพราะญี่ปุ่นยอมคืนแหลมชานตุง และอังกฤษยอมคืนเวไฮเว่ให้แก่จีน

*กบฏนักมวยเกิดใน ค.ศ. ๑๙๐๐ มีอุดมการณ์ที่จะกวาดล้างชาวต่างชาติให้หมดสิ้นไป ได้มีการปล้น เผาบ้านเรือนของชาวคริสเตียน และเข้ายึดสถานที่ทำการของชาวต่างชาติ แต่ในที่สุดกองทัพของชาวต่างชาติก็ได้ทำลายกำลังของนักมวยลง กบฏครั้งนี้แสดงถึงความรู้สึกชาตินิยมของจีน แต่ผลจากการพ่ายแพ้ทำให้จีนต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก (พร้อมทั้งดอกเบี้ยในระยะเวลา ๓๙ ปี คิดเป็นจำนวนทั้งหมดเกือบ ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์) และยอมให้กองทหารต่างชาติมาอยู่ในจีน นอกจากนั้นจีนยังต้องลงโทษผู้กระทำผิดกับทั้งต้องยอมยกดินแดนบางส่วนให้สหภาพโซเวียต เพื่อแลกกับการที่สหภาพโซเวียตต้องถอนทหารออกจากทางเหนือของจีน

**จุดประสงค์นโยบาย “เปิดประตู” ของสหรัฐอเมริกา ก็คือ การที่สหรัฐอเมริกาต้องการที่จะเปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันระหว่างนานาชาติในการติดต่อกับจีน โดยมีหลักการว่า

(๑) จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของจีนในเขตเช่านั้นๆ

(๒) จะไม่ขัดขวางการเก็บภาษีศุลกากรของจีน

(๓) จะไม่ตั้งอัตราค่าโดยสารรถไฟ หรือค่าธรรมเนียมท่าเรือ (แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้) ด้วยเหตุนี้ ก็เท่ากับว่าสหรัฐอเมริกาเข้ามาสร้างความยุติธรรมให้แก่จีนในการติดต่อกับต่างชาติ และบรรดาชาติยุโรปจะร่วมรักษาเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนจีนร่วมกัน แต่เมื่อฐานะระหว่างประเทศของจีนดีขึ้น สถานการณ์ภายในกลับเป็นอุปสรรคต่อจีนอีกเพราะมีความวุ่นวายที่ทำให้จีนไม่สามารถตั้งตัวได้เลย ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ยวนซีไข ถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๑๙๑๖ จีนตกอยู่ในยุคขุนศึกซึ่งแย่งชิงอำนาจกันเอง เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองภายในประเทศกินเวลาถึง ๓ ปี จนในที่สุด ซุนยัตเซนได้รวมกำลังตั้งพรรคก๊กมินตั่งขึ้นอีกที่เมืองกวางตุ้ง เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จีนจึงแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ จีนเหนือและจีนใต้ จีนใต้ซึ่งมีซุนยัตเซนเป็นผู้นำ มีนโยบายขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตในการปรับปรุงประเทศ และได้รับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาในพรรคก๊กมินตั่งใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ซุนยัตเซนปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรวมประเทศ จึงได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อเจรจาที่จะรวมจีนให้มีเอกภาพ แต่ซุนยัตเซนเริ่มป่วยหนัก และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ เจียงไคเช็ค (Chiang Kai Shek) ซึ่งได้รับการศึกษาจากญี่ปุ่นได้เป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั่งคนต่อมา เขาได้พยายามปราบจีนทางเหนือ และเมื่อตีปักกิ่งได้ ก็ได้สถาปนาเมืองหลวงไปอยู่ที่นานกิงใน ค.ศ. ๑๙๒๘ แต่เจียงไคเช็คก็ยังเผชิญกับความแตกแยกภายใน อันเนื่องมาจากการเริ่มมีอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และปัญหาภายนอกอันเนื่องมาจากการคุกคามของญี่ปุ่นเป็นสำคัญ



                                                           โดย นฤมิตร สอดสุข สมพร ไกรฤทธิ์ มนัส เกียรติธารัย




วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ประเทศญี่ปุ่นหลังการยึดครอง (ค.ศ. ๑๙๕๒ - ๑๙๖๐) ตอนที่ 2

ค.  การปรับปรุงทางด้านสังคม
                ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะปรับปรุงประเทศตามแนวทางที่สหรัฐอเมริกาได้วางไว้ในสมัยการยึดครองสืบต่อมา  ที่มีผลให้ระบบการเมืองของญี่ปุ่นเป็นระบอบประชาธิปไตย  และระบบเศรษฐกิจเป็นระบบเสรีนิยมตามแบบสหรัฐอเมริกาก็ตาม  แต่ในด้านขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม  คนญี่ปุ่นยังคงถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะในเขตชนบท  ดังนั้นถึงแม้ญี่ปุ่นจะมีระบบการเมืองใหม่และมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ  ญี่ปุ่นหลังการยึดครองก็ยังคงให้ความสำคัญกับขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่มาก  เช่น มีการจัดตั้งสมาคมรักษาประเพณีเดิมขึ้น  ชื่อว่าสมาคมสร้างค่านิยม  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๐  (เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า  สมาคมโซกะ  งักได)  ที่มีจุดมุ่งหมายให้คนญี่ปุ่นยึดมั่นอยู่ในศาสนาพุทธนิกายนิซิเร็น  ที่สอนให้คนมุ่งช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามแนวทางการดำเนินชีวิตแบบเดิมของญี่ปุ่น
                ในด้านการศึกษา  จากการนำเอาระบบการศึกษาแบบใหม่มาใช้ตั้งแต่สมัยการยึดครอง  นับว่ามีผลต่อสังคมญี่ปุ่นมาก  เพราะการศึกษาแบบใหม่เน้นความสำคัญของแต่ละบุคคล  โดยเฉพาะในเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลทำให้เกิดความตื่นตัวในหมู่คนญี่ปุ่น  เกิดความกล้าแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาต่างๆ  เป็นการช่วยส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของญี่ปุ่นมากขึ้น
                ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาเข้ายึดครอง  ญี่ปุ่นเกิดมีปัญหาทางสังคมที่สำคัญประการหนึ่ง  โดยเฉพาะในระยะแรกๆ  หลังสงคมยุติ  นั่นคือ  ปัญหาจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผลหลายประการ  เช่น  มีคู่สมรสใหม่จำนวนมาก  รวมทั้งคู่สมรสเก่าที่กลับมาพบกันหลังสงคราม  และชาวญี่ปุ่นอยู่นอกประเทศในระหว่างสงครามได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนภายหลังสงครามยุติลง  คนเหล่านี้เองที่ทำให้จำนวนประชากรของญี่ปุ่นล้นหลาม  จนทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน  เช่น  ที่ดินทำกินไม่เพียงพอ  เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม  ทั้งฝ่ายสหรัฐอเมริกาผู้ยึดครองและฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่น  ต่างตระหนักถึงปัญหาประชากรนี้  จึงได้มีการพยายามชะลออัตราการเกิดของชาวญี่ปุ่นตลอดมา  และสามารถทำได้สำเร็จตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๕๐  เป็นต้นมา
ง.  การปรับปรุงทางด้านการต่างประเทศ
                นับตั้งแต่ญี่ปุ่นได้เอกราชในเดือนเมษายน  ค.ศ. ๑๙๕๒  เป็นต้นมา  นอกจากแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศ  ซึ่งญี่ปุ่นมักจะดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับสหรัฐอเมริกาตลอดเวลา  เช่น  การสนับสนุนนโยบายของสหรัฐอเมริกาในการรับรองสาธารณรัฐจีน  ในขณะเดียวกัน  ญี่ปุ่นก็ยังต้องหาทางฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่างๆ  ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเหมือนก่อนสมัยที่จะเกิดสงคราม  โดยจะต้องแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่กับประเทศต่างๆ  คือ
                ๑.  ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกา  การสิ้นสุดการยึดครองทำให้ญี่ปุ่นมีฐานะเป็นประเทศเอกราชอย่างสมบูรณ์ในทางกฎหมาย  แต่ในทางปฏิบัติแล้วแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  เพราะสหรัฐอเมริกายังได้รับสิทธิที่จะมีฐานทัพอยู่ในประเทศญี่ปุ่นต่อไป  ตามข้อตกลงที่ทำกันในสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันของญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา  ในวันที่    กันยายน  ค.ศ. ๑๙๕๑  การคงฐานทัพอเมริกันในญี่ปุ่นต่อไปนี้ทำความไม่พอใจให้แก่คนญี่ปุ่นอย่างมาก  เพราะทำให้คนญี่ปุ่นมีความรู้สึกว่า  ประเทศของตนยังไม่เป็นอิสระหรือได้รับเอกราชที่สมบูรณ์  ยิ่งกว่านั้น  ยังมีข้อตกลงที่คนญี่ปุ่นไม่พอใจอย่างมาก  คือ  สหรัฐอเมริกามีสิทธิที่จะใช้กำลังทหารอเมริกันที่อยู่ในญี่ปุ่นเข้าปราบปรามการจลาจลในญี่ปุ่นได้  หากได้รับการร้องของจากรัฐบาลญี่ปุ่น  อันเป็นการให้สิทธิแก่ต่างชาติเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ  ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียอำนาจอธิปไตย  นอกจากนั้นการคงอยู่ของฐานทัพอเมริกันในญี่ปุ่นอาจจะไม่เป็นผลดีแก่ญี่ปุ่น  เพราะสหรัฐอเมริกาอาจจะนำญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามที่ญี่ปุ่นไม่ต้องการก็ได้
                ความไม่พอใจของคนญี่ปุ่นต่อสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกันนี้  ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องหาทางแก้ไขสนธิสัญญาเมื่อครบกำหนด  ๑๐  ปี  ความรู้สึกของคนญี่ปุ่นที่มีต่อสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่ไม่เป็นมิตรมากขึ้น  โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นที่เป็นการทำลายความสัมพันธ์อันดีของประเทศทั้งสองที่เคยมีมา  เช่น  ความไม่พอใจจากการที่สหรัฐอเมริกามีนโยบายเพิ่มกำลังทหารอเมริกันในญี่ปุ่นเนื่องจากสงครามเกาหลี  ความไม่พอใจเนื่องจากปัญหาสารกัมมันตภาพรังสีจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาบนเกาะนิวกีนีในมหาสมุทรแปซิฟิก  ในวันที่    มีนาคม  ค.ศ. ๑๙๕๔  ซึ่งมีผลทำให้ลูกเรือหาปลาชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต  นอกจากนั้น  ยังมีข้อพิพาทกรณีย่อยๆ  ที่เกิดขึ้นเสมอๆ  ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างทหารอเมริกันกับคนญี่ปุ่น  เช่น  การทำงานร่วมกันระหว่างทหารอเมริกันกับคนงานญี่ปุ่นที่เป็นลูกจ้างอยู่ในฐานทัพ  ตลอดจนข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ในฐานทัพอเมริกันกับชาวนารอบๆ  ฐานทัพ  เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
                ความขัดแย้งเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงและเดินขบวนต่อต้านสหรัฐอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง  อันเป็นเครื่องยืนยันว่าความรู้สึกต่อต้านสหรัฐอเมริกาของญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้น  เมื่อสนธิสัญญาความมั่นคงฉบับแรกใกล้หมดอายุลงในระยะ  ๑๐  ปี  รัฐบาลทั้ง    ประเทศได้เริ่มการเจรจาแก้ไขใหม่  ใน  ค.ศ. ๑๙๖๐  แต่ผลจากการเจรจาปรากฏว่ารัฐบาลของทั้ง    ประเทศ  ยังคงมีความต้องการที่จะต่ออายุสัญญาออกไปอีก  ๑๐  ปี  เพราะต่างเห็นว่ายังมีประโยชน์ต่อกันอยู่  สหรัฐอเมริกาเองก็มีความต้องการที่จะคงฐานทัพอยู่ในญี่ปุ่นต่อไปเพื่อรักษาสันติภาพทางเอเชีย  ส่วนญี่ปุ่นต้องการความคุ้มครองทางด้านการทหาร  และขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้เงินมาดำเนินการในเรื่องนี้  การให้ฐานทัพสหรัฐอเมริกายังคงอยู่ต่อไปก็เป็นการประหยัดเงิน  ญี่ปุ่นจะได้ใช้เงินไปในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมให้มากขึ้น  ดังนั้น  เมื่อผลประโยชน์ตรงกัน  การเจรจาของทั้ง    ประเทศ  จึงนำไปสู่การตกลงต่ออายุสนธิสัญญานี้ออกไปอีก  ๑๐  ปี  โดยจะหมดอายุใน  ค.ศ. ๑๙๗๐
                ๒.  ความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียต  ญี่ปุ่นกับสหภาพโซเวียตนั้นมีความขัดแย้งกันอยู่มากตลอดมา  ทั้ง    ฝ่ายเคยทำสงครามกันมาตั้งแต่ก่อนที่สหภาพโซเวียตจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง  ในระหว่าง  ค.ศ. ๑๙๐๔ - ๑๙๐๕  โดยญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะ  ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่    สหภาพโซเวียตได้ถือโอกาสระหว่างที่ญี่ปุ่นอยู่ในภาวะที่ใกล้จะแพ้  ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นใน  ค.ศ. ๑๙๔๕  ทันที  ทำให้สหภาพโซเวียตมีฐานะเป็นประเทศผู้ชนะสงครามด้วยประเทศหนึ่ง  ต่อมาใน  ค.ศ. ๑๙๕๐  สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ตกลงกันทำสนธิสัญญาร่วมมือทางด้านการทหารเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น  และเมื่อมีการประชุมเพื่อทำสัญญาสันติภาพที่เมืองแซนแฟรนซิสโก  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๑  สหภาพโซเวียตได้ปฏิเสธที่จะร่วมลงนามรับรู้ในข้อตกลงกับญี่ปุ่น  ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถตกลงปัญหาความขัดแย้งต่างๆ  เพื่อยุติสงครามระหว่างญี่ปุ่นกับสหภาพโซเวียตได้โดย  โกรมิโก  ผู้แทนสหภาพโซเวียตได้กล่าวโจมตีสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวอย่างรุนแรง
                ต่อมาใน  ค.ศ. ๑๙๕๔  สหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นได้เปิดการเจรจาทางการทูตกันขึ้น  โดยญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอ    ประการ  คือ
                ก.  ขอสิทธิจับปลาในน่านน้ำของสหภาพโซเวียต
                ข.  ขอคืนเกาะ    เกาะทางตอนเหนือของหมู่เกาะฮอกไกโด  ได้แก่  เกาะฮาโบไม  (Habomai)  ชิโกตัน  (Shikotan)  กุนาชิริ  (Kunashiri)  และเอโตโรฟุ  (Etorofu)  พร้อมทั้งหมู่เกาะแซคาลินและหมู่เกาะคูริล  ซึ่งสหภาพโซเวียตยึดครองไว้หลังจากสงครามโลกครั้งที่    สงบลง
                ค.  ขอให้สหภาพโซเวียตสนับสนุนญี่ปุ่น  ในการสมัครเข้าไปเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ
                ง.  ขอให้ส่งคืนเชลยศึกชาวญี่ปุ่นที่สหภาพโซเวียตคุมขังไว้ที่ไซบีเรีย
                แต่การเจรจากลับไม่สามารถตกลงกันในข้อใดๆ  ได้เลย  ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตมีแนวโน้มไปในทางลบ  สหภาพโซเวียตก็ได้ใช้นโยบายที่รุนแรงต่อญี่ปุ่น  เช่น  เมื่อญี่ปุ่นสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๕  สหภาพโซเวียตก็ใช้สิทธิยับยั้งในฐานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงญี่ปุ่นจึงเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติไม่ได้  นโยบายต่อต้านญี่ปุ่นของสหภาพโซเวียตมีผลให้ญี่ปุ่นต้องยอมอ่อนข้อให้  โดยการเสนอขอเปิดการเจรจากับสหภาพโซเวียตใน  ค.ศ. ๑๙๕๕  การเจรจาครั้งที่ทั้ง    ประเทศสามารถตกลงกันเรื่องสิทธิการจับปลาเป็นผลสำเร็จ  แต่ปัญหาเรื่องขอเกาะคืนจากสหภาพโซเวียตยังไม่เป็นผล
                จากข้อตกลงที่ทำกันได้ในบางเรื่อง  ทำให้สหภาพโซเวียตยกเลิกการใช้สิทธิยับยั้งในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติของญี่ปุ่นใน  ค.ศ. ๑๙๕๖  ญี่ปุ่นจึงได้เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ปัญหาที่นับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสองที่ยังคงดำรงอยู่  คือ  การที่สหภาพโซเวียตไม่ยอมคืนเกาะให้แก่ญี่ปุ่นตามคำขอ
                ๓.  ความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน  โดยทั่วไปแล้วนับว่าคนญี่ปุ่นมีความรู้สึกเป็นมิตรต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนมากกว่าต่อสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต  เพราะได้มีการติดต่อกันมาเป็นเวลานานและญี่ปุ่นได้ยอมรับวัฒนธรรมจีนไว้เป็นอันมาก  นอกจากนั้น  ด้านความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติก็มีความใกล้ชิดกัน  อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ  การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่มีนโยบายเรื่องการขยายอำนาจในช่วง  ค.ศ. ๑๙๕๑ - ๑๙๖๐  เพราะอยู่ในระยะเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างหนักตามโครงการก้าวกระโดดไกล  (ค.ศ. ๑๙๕๗ - ๑๙๖๐)  ทำให้ญี่ปุ่นไม่เห็นอันตรายจากจีน  โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับท่าทีของสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินนโยบายเป็นจักรวรรดินิยมมากขึ้น  นอกจากนั้น  ญี่ปุ่นยังคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่นจะได้รับจากการติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  เพราะสาธารณรัฐประชาชนจีนมีประชากรมากและจะสามารถเป็นตลาดรับซื้อสินค้าอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นได้เป็นจำนวนมาก  อีกทั้งยังมีดินแดนอันกว้างใหญ่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวัตถุดิบที่ล้วนแต่เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ญี่ปุ่นต้องการนำมาใช้ในกิจการอุตสาหกรรม  นอกจากนี้  ญี่ปุ่นยังมีความคิดอีกด้วยว่าตนควรจะยอมรับผิดและขออภัยต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน  สำหรับความยุ่งยากที่กองทหารญี่ปุ่นได้กระทำไว้ต่อประเทศจีน  ซึ่งปรากฏว่าในระหว่าง  ค.ศ. ๑๙๓๗ - ๑๙๔๕  ที่ญี่ปุ่นรุกรานแผ่นดินใหญ่จีน  ได้สังหารผู้คนไปประมาณ  ๑๑ - ๑๕  ล้านคน  ทำให้คนราว  ๖๐  ล้านคน  ไร้ที่อยู่อาศัยและทำความเสียหายมีมูลค่าถึงประมาณ  ๖๐,๐๐๐  ล้านดอลลาร์  ญี่ปุ่นจึงต้องการเจรจาปัญหาค่าปฏิกรรมสงครามตามที่สาธารณรัฐประชาชนจีนเรียกร้อง
                ด้วยเหตุนี้  ญี่ปุ่นจึงต้องการจะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นอย่างมาก  แต่ญี่ปุ่นก็มีอุปสรรคในเรื่องนี้อยู่  ทั้งนี้มีสาเหตุสำคัญ    ประการ  คือ
                ก.  สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้เข้าร่วมประชุมที่เมืองแซนแฟรนซิสโก  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๑  เพื่อทำสนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่นร่วมกับประเทศอื่นๆ  ทำให้ปัญหาเกี่ยวกับผลของสงครามโลกครั้งที่    ระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนกับญี่ปุ่นยังไม่ได้เจรจาตกลงกัน
                ข.  ญี่ปุ่นมีข้อตกลงกับสหรัฐอเมริกาในการดำเนินนโยบายต่างประเทศว่า  จะต้องให้เป็นไปตามความต้องการของสหรัฐอเมริกา  แต่การที่สหรัฐอเมริกามีนโยบายไม่เป็นมิตรกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  ทำให้ญี่ปุ่นมีไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้เพราะเป็นการขัดต่อนโยบายของสหรัฐอเมริกา
                ค.  ญี่ปุ่นได้ทำสัญญากับสาธารณรัฐจีนที่พร้อมจะให้การรับรองไต้หวันเป็นเอกเทศ  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๒  โดยรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐจีนที่ไต้หวันและสถาปนาความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง    ประเทศขึ้น  ทำให้นโยบายของญี่ปุ่นที่ต้องการจะมีความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีอุปสรรค
                ง.  เป็นเพราะญี่ปุ่นกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับสหภาพโซเวียตเพื่อขอทำสัญญาสันติภาพ  ด้วยญี่ปุ่นต้องการเกาะคูริล  เกาะแซคาลิน  และหมู่เกาะทางตอนเหนือ  รวมทั้ง  เกาะฮาโบไม  ชิโกตัน  กูนาชิริ  และเอโตโรฟุ  คืนจากสหภาพโซเวียต  โดยเหตุนี้  ถ้าญี่ปุ่นดำเนินนโยบายทำสนธิสัญญาสันติภาพกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอาจมีผลต่อการเจรจากับสหภาพโซเวียตได้  เพราะสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนกำลังมีแนวโน้มจะเป็นศัตรูกัน  ซึ่งอาจทำให้โอกาสที่ญี่ปุ่นจะขอเจรจากับสหภาพโซเวียตเพื่อขอหมู่เกาะต่างๆ  คืนล้มเหลวตามไปด้วย
                ด้วยเหตุนี้  การที่ญี่ปุ่นต้องการสถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงมีอุปสรรคอยู่มาก  อย่างไรก็ตาม  ในที่สุดญี่ปุ่นก็ต้องตัดสินใจเลือกประเทศใดประเทศหนึ่งที่ญี่ปุ่นเห็นว่าจะเป็นอันตรายต่อญี่ปุ่นน้อยกว่า  ในขณะเดียวกันก็เป็นประโยชน์คุ้มค่าต่อญี่ปุ่นด้วย  ดังนั้น  ใน  ค.ศ. ๑๙๖๐  เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียตมีความขัดแย้งกันมากขึ้นอันเป็นผลให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจบางประการเสียใหม่  เช่น  ยกเลิกการซื้อสินค้าจากสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม  จึงต้องหันมาพึ่งพาประเทศโลกเสรีมากขึ้น  ญี่ปุ่นจึงเริ่มเจรจาติดต่อทางการค้าอย่างไม่เป็นทางการกับสาธารณรัฐประชาชนจีน  การมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับสาธารณรัฐประชาชนจีนดังกล่าว  เท่ากับญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุดนั่นเอง
                ๔.  ความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ  จุดมุ่งหมายสำคัญของญี่ปุ่นที่ต้องการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศอื่นๆ  ก็เพื่อเป็นหนทางนำไปสู่การมีสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจที่จะเป็นผลประโยชน์ต่อญี่ปุ่น  สาเหตุสำคัญที่จะเป็นอุปสรรคแก่ญี่ปุ่น  คือ  การที่บรรดาประเทศที่เคยถูกญี่ปุ่นรุกรานในระหว่างสงครามโลกครั้งที่    ยังมีความเกลียดชังญี่ปุ่นอยู่  ทั้งยังมีความหวดกลัวการฟื้นฟูลัทธินิยมทหารของญี่ปุ่นด้วย  จึงไม่ต้องการจะเป็นมิตรกับญี่ปุ่นอย่างง่ายๆ  ดังนั้น  เพื่อแก้ไขภาพพจน์และทัศนคติดังกล่าวญี่ปุ่นจึงต้องเป็นฝ่ายยอมรับด้วยการตกลงยินยอมจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ประเทศต่างๆ  ที่ถูกญี่ปุ่นรุกรานในระหว่างสงครามโลกครั้งที่    เป็นการชดใช้ความเสียหายที่เกิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของประเทศเหล่านั้น  และเป็นการลดความเกลียดชังญี่ปุ่นให้น้อยลง  เช่น  ในกรณีของประเทศไทยก็สามารถตกลงค่าปฏิกรรมสงครามกับญี่ปุ่นได้ตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๕๕  โดยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน  ๙,๖๐๐  ล้านเยน  ซึ่งญี่ปุ่นขอชำระเป็นงวดๆ  ภายในเวลา    ปี  โดยเริ่มตั้งแต่      ค.ศ. ๑๙๖๒  เป็นต้นมา  นอกจากนั้น  ญี่ปุ่นก็ได้เริ่มจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่พม่าเป็นประเทศแรกใน  ค.ศ. ๑๙๕๔  ฟิลิปปินส์ใน  ค.ศ. ๑๙๕๖  อินโดนีเซียใน  ค.ศ. ๑๙๕๘  และเวียดนามใน  ค.ศ. ๑๙๕๙  ผลการยอมรับการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามของญี่ปุ่น  นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเหล่านั้นดีขึ้นแล้ว  ยังช่วยให้ญี่ปุ่นได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอีกด้วย  เพราะการจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามนั้น  ญี่ปุ่นไม่ได้กระทำในรูปการให้เงินช่วยเหลือเท่านั้น  แต่ได้กระทำในลักษณะของการลงทุนทางการค้า  ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นการช่วยเหลืออีกรูปแบบหนึ่งด้วย  การลงทุนในลักษณะดังกล่าวในแง่หนึ่งได้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ  ที่ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือ  แต่ในอีกแง่หนึ่งญี่ปุ่นเองก็ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนด้วย  เช่น  การช่วยตั้งโรงงานผลิตอาวุธในฟิลิปปินส์ใน  ค.ศ. ๑๙๖๘  ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องสั่งซื้ออุปกรณ์การผลิตต่างๆ  จากญี่ปุ่นต่อไปในระยะยาว  เป็นต้น  ญี่ปุ่นจึงได้ตลาดการค้าเพิ่มขึ้น  การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในต่างประเทศจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว

ประเทศญี่ปุ่นหลังการยึดครอง (ค.ศ. ๑๙๕๒ - ๑๙๖๐) ตอนที่ 1


ประเทศญี่ปุ่นหลังการยึดครอง  (ค.ศ. ๑๙๕๒ - ๑๙๖๐)

                ถึงแม้สหรัฐอเมริกาจะควบคุมญี่ปุ่นมากดังกล่าวมาแล้วในบทที่  ๔  ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ยึดครองและญี่ปุ่นเป็นผู้ถูกยึดครองก็เป็นไปด้วยดี  ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญ  ๖  ประการ  คือ
                (๑)  สหรัฐอเมริกาต้องการฟื้นฟูญี่ปุ่นอย่างเต็มที่  โดยมุ่งให้ญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านระบบเศรษฐกิจ  และการจัดรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
                (๒)  สหรัฐอเมริกายอมรับความจริงของฝ่ายญี่ปุ่น  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐอเมริกาในเรื่องที่ว่า  สันติภาพจะมีได้ก็โดยการที่สหรัฐอเมริกาจะต้องสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแต่เพียงประการเดียว  โดยเลิกล้มบทบาททางด้านการทหารอย่างเด็ดขาดและจะต้องมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาต่อไป
                (๓)  นโยบายปรับปรุงประเทศญี่ปุ่นในทุกๆ  ด้านยกเว้นกิจการด้านการทหารได้ช่วยปรับแก้ทัศนะที่ชาติต่างๆ  มีต่อญี่ปุ่นว่าญี่ปุ่นเป็นชาติรุกราน  อันเนื่องมาจากเคยมุ่งสร้างกองทัพให้ยิ่งใหญ่เพื่อขยายอำนาจ
                (๔)  ญี่ปุ่นพอใจกับนโยบายการยึดครองญี่ปุ่นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนดขึ้น  อันมีหลักการว่า  การยึดครองญี่ปุ่นเพื่อเป็นการล้างแค้นย่อมก่อให้เกิดความเกลียดชัง  และความไม่สงบขึ้น  เพราะฉะนั้นนโยบายยึดครองจึงมุ่งจะปฏิรูปญี่ปุ่นให้เปลี่ยนบทบาทจากผู้ทำลายสันติภาพมาเป็นผู้สร้างสันติภาพ
                (๕)  ลักษณะเฉพาะของคนญี่ปุ่น  มีลักษณะที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงได้ง่าย  และยอมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า  ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่คนญี่ปุ่นได้เคยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมาเป็นเวลาถึง  ๑๕  ปี  ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่  ๒  ยิ่งกว่านั้น  ยังมีธรรมเนียมสั่งสอนกันมาตลอดให้เชื่อฟังผู้ใหญ่  การยอมรับความคิดเห็นของผู้มีอำนาจจึงเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้การยอมรับทำให้การปกครองของสหรัฐอเมริกาในนามของสัมพันธมิตรเป็นไปโดยราบรื่น  ในอีกด้านหนึ่งชาวญี่ปุ่นได้รู้จักชาวอเมริกันเป็นอย่างดี  นับแต่ญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศในสมัยเมจิ  เหตุนี้  อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาจึงมีอยู่ในญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานแล้ว  ความสนิทสนมระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกันจึงคงดำรงอยู่  ทำให้การเข้ามายึดครองของสหรัฐอเมริกาเป็นที่ยอมรับ
                (๖)  ในระยะการยึดครอง  แม้ญี่ปุ่นจะเสียผลประโยชน์บางอย่างและอำนาจอธิปไตยไปบ้าง  ญี่ปุ่นก็ยอมเมื่อเทียบกับความช่วยเหลือที่ได้จากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีมากกว่า  เช่น  ในระหว่าง               ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๒  สหรัฐอเมริกาได้ช่วยเหลือญี่ปุ่นเป็นเงินถึง  ๑,๘๐๐  ล้านดอลลาร์  โดยที่สหรัฐอเมริกาต้องการฟื้นฟูประเทศญี่ปุ่น  เพื่อให้เป็นแนวปราการป้องกันการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์  ที่กำลังคุกคามสันติภาพของโลก  เช่น  สงครามเกาหลี
                ดังนั้น  ตลอดระยะเวลาของการยึดครองจึงไม่มีการต่อต้าน  ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงประเทศญี่ปุ่นให้กลับคืนสู่สภาพปกติเกิดขึ้น  การยึดครองได้ยุติลงอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา  เมื่อมีการตกลงทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเสรีต่างๆ  ณ  เมืองแซนแฟรนซิสโก  ในวันที่  ๒๘  เมษายน  ค.ศ. ๑๙๕๒  ทำให้ญี่ปุ่นได้รับอิสรภาพ  มีฐานะเป็นประเทศเอกราช
                เมื่อญี่ปุ่นเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์  ปรากฏว่ามีปัญหาที่จะต้องปรับปรุงประเทศให้คืนสู่สภาพปกติหลายด้าน  ดังนี้คือ 
ก.  การปรับปรุงทางด้านการเมือง
                อุดมการณ์ทางการเมืองของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่  ๒  เป็นต้นมา  มี  ๒  แนวทาง  คือ  อนุรักษ์นิยมและสังคมนิยม  พรรคการเมืองที่มีผู้สนับสนุนมากในแนวอนุรักษ์นิยม  คือ  พรรคเสรีประชาธิปไตย  (Liberal Democratic Party)  รองลงมา  คือ  พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย  (Democratic Socialist Party)  ส่วนทางด้านสังคมนิยม  คือ  พรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น  (Japan Socialist Party)  และรองลงมา  คือ  พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น  (Japan Communist Party)  แต่ละพรรคต่างมีนโยบายหลักมุ่งหาเสียงสนับสนุนจากประชาชน  นโยบายจึงออกมาในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก  โดยมุ่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆ  เพราะฉะนั้น  การที่พรรคใดได้รับการสนับสนุนมากหรือน้อยจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละพรรค  แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่  ที่ประชาชนให้ความนิยมและไว้วางใจมากกว่า  ดังนั้นพรรคที่ได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลมาตลอดจึงได้แก่  พรรคเสรีประชาธิปไตย  ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ  ซึ่งประชาชนให้ความสนับสนุนน้อยลงตามลำดับ  ได้แก่  พรรคสังคมนิยม  พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย  และพรรคโคเม  (Komei Party)  ซึ่งมีนโยบายเดินสายกลางไม่เป็นอนุรักษ์นิยมจนเกินไป  และพรรคคอมมิวนิสต์
                แต่หลังจากญี่ปุ่นได้เอกราชสมบูรณ์แล้ว  ความนิยมของญี่ปุ่นที่มีต่อนโยบายอนุรักษ์นิยมเปลี่ยนแปลงไป  โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนพรรคเสรีประชาธิปไตยในเมืองมีน้อยลง  เมื่อเทียบจำนวนกับเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่  ๒  ใหม่ๆ  ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผล  ๓  ประการ  คือ
                ๑.  คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่ออายุครบ  ๒๐  ปี  เป็นพวกที่มีการศึกษากว้างขวางและทันสมัย  โดยเฉพาะให้ความสนใจกับแนวความคิดทางการเมืองใหม่ๆ  เช่น  ระบอบคอมมิวนิสต์  เป็นต้น  เป็นผลให้พวกนี้หันมาให้ความนิยมในอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายซ้ายหรือสังคมนิยม  เพราะฉะนั้นจำนวนคนที่สนับสนุนในพรรครัฐบาลหรืออนุรักษ์นิยมจึงมีน้อยลง
                ๒.  ผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามเมืองใหญ่มีปริมาณน้อยลงนับตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๕๘  เป็นต้นมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เป็นชาย  ทั้งนี้เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามเมืองใหญ่  ทำให้ไม่มีเวลาที่จะไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งเพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการประกอบอาชีพซึ่งมีความสำคัญกว่า
                ๓.  ประชาชนที่อยู่ในเมืองใหญ่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายมากขึ้น  เช่น  พรรคสังคมนิยม  ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มกรรมกร  เพราะญี่ปุ่นมีนโยบายเร่งด่วนทางด้านอุตสาหกรรมมาก  ทำให้มีแรงงานเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ  ที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม  เช่น  โตเกียว  โอซากา  เป็นต้น  พวกกรรมกรและผู้ใช้แรงงานซึ่งเรียกว่า  Blue Collar  จะให้การสนับสนุนจากพวก  White Collar  คือ  พวกที่มีการศึกษาหรือปัญญาชน  เช่น  นักวิชาการ  นักเขียน  นักศึกษา  และพนักงานชั้นผู้น้อย  ซึ่งคนเหล่านี้มีปัญหาเรื่องรายได้ไม่พอกับค่าครองชีพ  ทำให้ไม่พอใจต่อสภาพแวดล้อม  จึงสนับสนุนนโยบายสังคมนิยมที่มีนโยบายการกระจายรายได้และกระจายความมั่งคั่ง  ซึ่งจะช่วยให้สภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมญี่ปุ่นไม่มีความแตกต่างกันมากเกินไป
                อย่างไรก็ตาม  แม้จะได้รับความสนับสนุนจากประชาชนในเมืองน้อยลง  แต่ในชนบทยังคงได้รับความนิยมอยู่  ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมในนามของพรรคเสรีประชาธิปไตยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ
                ๑)  ความมีชื่อเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง  การเลือกตั้งที่ผ่านมาจนถึงระยะหลังการยึดครอง  ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีความโน้มเอียงจะเลือกตัวบุคคลมากกว่าที่เลือกพรรค  โดยเฉพาะจากลุ่มผู้มีอายุและกลุ่มชาวไร่ชาวนา  ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นที่รู้จักมักจะได้รับเลือกเสมอ  ไม่ว่าจะสังกัดอยู่พรรคการเมืองใดหรือมีนโยบายทางการเมืองแบบใดก็ตาม  การที่ตัวบุคคลมีความสำคัญกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง  เพราะคนในชนบทมีแนวโน้มที่ยอมรับผู้ที่มีอำนาจหรืออิทธิพลในท้องถิ่นมากกว่านโยบายทางการเมือง  ซึ่งผู้ที่มีอิทธิพลส่วนมากก็มักจะเป็นคนท้องถิ่นซึ่งสนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์นิยมมาตลอด
                ๒)  ภูมิลำเนาของผู้สมัครรับเลือกตั้ง  คนญี่ปุ่นไม่ว่าสมัยใดค่อนข้างจะมีความผูกพันกับท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่มาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชนบท  เพราะฉะนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากเขตหรือภูมิลำเนาของตน  โดยไม่ค่อยพิจารณาถึงหลักการอื่นๆ  และถึงแม้ว่าหลัง  ค.ศ. ๑๙๖๐  เป็นต้นมา  คนรุ่นหนุ่มสาวทั้งชายและหญิงซึ่งเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในเมืองไม่ต่ำกว่าปีละ  ๕๐๐,๐๐๐  คน  จะมีความรู้กว้างขวางขึ้นและมีหลักเกณฑ์ในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกต้องขึ้น  แต่คนหนุ่มสาวจำนวนนี้ก็ยังมีน้อยกว่าคนที่มีอายุ  ๓๐ - ๓๕  ปีขึ้นไป  พวกที่มีอายุมากในระดับนี้ในชนบทจะยังคงให้การสนับสนุนแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากภูมิลำเนาของตน  ซึ่งส่วนมากเป็นผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยม
                ๓)  ส่วนใหญ่ของประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกว่าครึ่งอยู่ในชนบทที่มีอาชีพทางเกษตรกรรมและการประมงเป็นอาชีพหลัก  ซึ่งพวกนี้เป็นพวกหัวเก่าที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี  จึงให้การสนับสนุนแก่พรรคเสรีประชาธิปไตยมาตลอด
                นอกจากการสนับสนุนจากประชาชนในชนบทช่วยให้พรรคเสรีประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาลปกครองญี่ปุ่นมาตลอดแล้ว  ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มอนุรักษ์นิยมยังทำให้ประชาชนทั่วไปพอใจอีกด้วย  โดยเฉพาะนับแต่  ค.ศ. ๑๙๕๕  เป็นต้นมา  เมื่อกลุ่มอนุรักษ์นิยมได้รวมตัวกันโดยใช้ชื่อว่าพรรคเสรีประชาธิปไตย  ทำให้สามารถเอาชนะจิตใจประชาชนเรื่อยมา  ในขณะที่กลุ่มผู้นำฝ่ายสังคมนิยมมักจะแตกแยกกันเอง
ข.  การปรับปรุงทางด้านเศรษฐกิจ
                การพัฒนาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๕๑  เป็นต้นมา  นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก  เนื่องจากสามารถปรับปรุงแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศจากความสูญเสียในระยะสงครามโลกให้กลับคืนสู่สภาพปกติในระยะเวลาอันรวดเร็ว  การดำเนินการแก้ไขสภาพเศรษฐกิจในช่วงนี้  ญี่ปุ่นได้ดำเนินการใน  ๒  แนวทาง  คือ  การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมโดยตรง  กับการปรับปรุงนโยบายของประเทศในด้านอื่นๆ  ให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม
                การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ  ญี่ปุ่นดำเนินการดังนี้
                ๑.  ญี่ปุ่นกำหนดระบบเศรษฐกิจของประเทศไว้อย่างแน่นอนว่า  ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม  ญี่ปุ่นจึงมีนโยบายสนับสนุนความคิดริเริ่มในการดำเนินกิจการต่างๆ  และให้มีการใช้ประโยชน์จากพลังงานต่างๆ  ที่มีอยู่ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด
                ๒.  รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนต่อระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมอย่างมาก  ทำให้มีการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ  ได้แก่  กลุ่มธนาคารและกลุ่มอุตสาหกรรม  เพื่อแก้ไขสภาพความตกต่ำทางเศรษฐกิจให้หมดไปจากญี่ปุ่น  และยังทำให้การบริการของรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
                การปรับปรุงนโยบายของประเทศในด้านอื่นๆ  ให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม  ดังนี้
                        ๑)  ญี่ปุ่นได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีมาตรฐาน  เพื่อให้คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและอยู่ในระดับสูง  ญี่ปุ่นจึงมีประชากรที่มีคุณภาพมีความสามารถที่จะเข้าใจถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ที่จะทำให้ญี่ปุ่นเจริญขึ้น  และแก้ไขปัญหาต่างๆ  ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
                        ๒)  ญี่ปุ่นรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาไว้อย่างต่อเนื่อง  ทำให้ญี่ปุ่นได้รับความช่วยเหลือในแบบต่างๆ  ตลอดมาอย่างสม่ำเสมอ  เช่น  การที่สหรัฐอเมริกาช่วยซื้อสินค้าญี่ปุ่นอย่างมากมายในสงครามเกาหลี  ทำให้ญี่ปุ่นมีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น  กับทั้งสามารถนำรายได้เหล่านั้นไปปรับปรุงกิจการทางด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นให้เจริญก้าวหน้าขึ้น  นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกาก็ยังให้ความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ  อันเป็นการถ่ายทอดความรู้ทางเทคนิคในด้านต่างๆ  ให้ญี่ปุ่นอย่างเต็มที่  เพื่อให้ญี่ปุ่นได้นำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม  รวมทั้งการให้กู้ยืมเงินในระยะยาวเพื่อใช้ในการลงทุนขายวัตถุดิบให้ญี่ปุ่น  และเป็นตลาดรับซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นมากที่สุด  นับเป็นความช่วยเหลืออย่างสำคัญที่ก่อประโยชน์ให้ญี่ปุ่นเป็นอันมาก
                        ๓)  ญี่ปุ่นได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของตนกับประเทศต่างๆ  ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามโครงการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม  โครงการช่วยเหลือประเทศต่างๆ  เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่น้อย  เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งข้อกำหนดไว้ว่าเงินช่วยเหลือเหล่านั้นจะต้องใช้ซื้อสินค้าญี่ปุ่น  เช่น  รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องใช้เงินที่ญี่ปุ่นช่วยเหลือซื้อสินค้าญี่ปุ่น  จึงเท่ากับเป็นการจ่ายเงินกลับคืนสู่นายทุนญี่ปุ่นตามเดิมนั่นเอง  สำหรับโครงการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม  ญี่ปุ่นถือว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติ  การชำระจริงๆ  จึงกระทำกันในรูปของการลงทุน  เช่น  การที่ญี่ปุ่นจัดการตั้งโรงงานผลิตกระสุนมูลค่า  ๖  ล้านดอลลาร์ให้ฟิลิปปินส์เป็นการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม  ในลักษณะเช่นนี้ทำให้ญี่ปุ่นมีความผูกพันทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคแถบนี้มากขึ้น  เพราะประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาเทคนิคต่างๆ  จากญี่ปุ่น
                การที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการดำเนินตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้  ทำให้ญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจจนมีผลให้ญี่ปุ่นพ้นจากสภาพการเป็นหนี้สินในสมัยสงครามโลก  กลายเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างสูงประเทศหนึ่ง  อย่างไรก็ดี  ถึงแม้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะมั่นคงเนื่องจากรายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มอย่างมากทุกปี  นับแต่สิ้นสุดการยึดครองเป็นต้นมา  แต่ญี่ปุ่นก็ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่  ปัญหาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในระยะหลังการยึดครอง  ได้แก่
                ๑.  การที่ญี่ปุ่นใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม  ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างการลงทุนทางเศรษฐกิจของเอกชนกับของรัฐบาล  ซึ่งปรากฏว่าเอกชนเจริญก้าวหน้ามากกว่า  ทั้งนี้เพราะเอกชนกล้าลงทุน  ทำให้การพัฒนาในกิจการของเอกชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว  และส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ  ในขณะที่ทางรัฐบาลลงทุนน้อยและต้องประหยัดเงินไว้ใช้ในกรณีพิเศษ  ทำให้รัฐบาลต้องพึ่งพาเอกชนอย่างมาก
                ๒.  ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทอุตสาหกรรม  การที่ลักษณะของโรงงานอุตสาหกรรมมี  ๒  ประเภท  ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไม่เท่ากัน  ทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ  ตามมา  เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมใหม่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง  มีคนงานเป็นจำนวนมาก  และโดยเฉพาะอัตราค่าจ้างแรงงานได้รับมากกว่าโรงงานขนาดเล็ก  ส่วนประเภทโรงงานขนาดเล็ก  การผลิตจะอยู่ในอัตราต่ำ  ค่าจ้างคนงานจึงต่ำกว่า  ทำให้เกิดความแตกต่างกันในระดับค่าจ้างแรงงาน  มีผลทำให้มีการเรียกร้องปรับปรุงค่าจ้างให้เหมาะสม  ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น  เมื่อมีการปรับค่าแรง  สินค้าต่างๆ  ก็มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย  ทำให้ค่าครองชีพมีอัตราสูงขึ้นทุกปี
                ๓.  เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นเกาะและเนื้อที่จำกัด  ทำให้ไม่มีดินมากพอเพื่อจะทำการเกษตร  ผลผลิตทางการเกษตรจึงไม่เพียงพอกับจำนวนประชากร  ญี่ปุ่นจึงขาดแคลนอาหารและผลิตผลทางการเกษตร  และยิ่งกว่านั้น  ญี่ปุ่นไม่มีวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเพียงพอที่จะใช้ในการผลิตทางอุตสาหกรรม  โดยเหตุนี้  ญี่ปุ่นจึงต้องสั่งซื้อสินค้าเข้าประเภทดังกล่าวจำนวนมาก  การที่ญี่ปุ่นต้องการสินค้าวัตถุดิบมากก่อให้เกิดผลคือ
                        ก.  ญี่ปุ่นต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศ  โดยเป็นมิตรกับประเทศที่ส่งวัตถุดิบให้ญี่ปุ่น  เช่น  ทำสนธิสัญญาค้าไม้กับสหภาพโซเวียต  ทำให้ญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากขึ้น  ซึ่งมีผลให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจ
                        ข.  ญี่ปุ่นพยายามดำเนินการควบคุมแหล่งวัตถุดิบให้มากขึ้นโดยมีความสัมพันธ์กับประเทศในโลกที่  ๓  เช่น  ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และในตะวันออกกลาง  เช่น  กับประเทศซาอุดีอาระเบีย  โดยการทำสัญญาการลงทุนระยะยาวเพื่อควบคุมแหล่งวัตถุดิบ  มีผลให้ญี่ปุ่นเริ่มจะมีปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจกับประเทศทางตะวันตกมากขึ้น
                ๔.  การที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องผลิตสินค้าส่งออกให้มาก  เพื่อจะได้เงินตราต่างประเทศอย่างพอเพียง  และเพื่อจะได้มีเงินทุนขยายกิจการทางด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น  ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้นโยบายควบคุมสินค้าขาเข้า  เพราะเป็นการประหยัดเงินตราไม่ให้ไหลออกนอกประเทศ  นโยบายดังกล่าวทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่พอใจ  เพราะไม่สามารถหาซื้อสินค้าที่ตนต้องการได้  จึงต้องการให้รัฐบาลสั่งสินค้าเข้าเพิ่มให้มากขึ้น

ปัญหาและอนาคตด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเกาหลีใต้

ข.  ปัญหาและอนาคตด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคมของเกาหลีใต้
                ๑.  ปัญหาและอนาคตด้านการเมืองของเกาหลีใต้
                ปัญหาด้านการเมือง  เป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยปักจุงฮีที่ใช้อำนาจเผด็จการผูกขาด  ทำให้พรรคฝ่ายค้าน  ประชาชนและนิสิตนักศึกษา  ร่วมมือกันต่อต้านรัฐบาลอย่างแข็งขันตลอดมา  จนถึงขั้นมีการใช้อาวุธตอบโต้การปราบปรามของรัฐบาลหลายครั้ง  ขณะที่รัฐบาลใช้มาตรการทางการเมืองปราบปราม  ในลักษณะที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน  และถึงขั้นจำคุกทรมานนักโทษการเมืองจนเป็นเรื่องอื้อฉาวไปทั่วมีผลทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพที่มั่นคง  ต้องเสริมสร้างอาวุธไว้คอยปกป้องคุ้มกันอยู่ตลอดเวลา  และไม่สามารถจะคาดการณ์ได้ว่าประชาชนจะก่อการประท้วงขึ้นอีกเมื่อไร  แม้ในสมัยชุนดูฮวานเองก็ตาม  หลังจากสามารถปราบปรามประชาชน  นิสิตนักศึกษา  ที่เมืองกวางจูได้อย่างราบคาบแล้ว  ปรากฏว่าเมื่อถึงวาระครบรอบ    ปีของเหตุการณ์จลาจลได้มีการประท้วงอดอาหาร  เพื่อให้รัฐบาลคลี่คลายกรณีทีเกิดขึ้นดังกล่าวให้กระจ่างแจ้งซึ่งรัฐบาลก็ต้องยอมผ่อนปรนที่จะปฏิบัติตามในที่สุด  ปัญหาการต่อต้านรัฐบาลคงยากที่จะแก้ไขให้ยุติไปได้  ตราบเท่าที่ยังไม่มีการใช้หลักเกณฑ์ที่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพ  และสร้างสรรค์ความเสมอภาคเป็นธรรมในเกาหลีใต้อย่างแท้จริง
                ๒.  ปัญหาและอนาคตด้านการต่างประเทศของเกาหลีใต้
                ปัญหาที่สร้างความกังวลใจต่อรัฐบาลเกาหลีใต้  ตลอดทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมามากที่สุด  คือ  ปัญหาการป้องกันประเทศ  เพราะเกรงว่าฝ่ายเกาหลีเหนือจะรุกรานเพื่อผนวกเกาหลีใต้  โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศสมัยประธานาธิบดีคาร์เตอร์ของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการลดความผูกพันกับภูมิภาคเอเชีย  ในที่สุดได้ตัดสินใจจะถอนกำลังภาคพื้นดินในเกาหลีใต้ประมาณ  ๓๓,๐๐๐  คน  ออกให้หมดภายใน  ค.ศ. ๑๙๘๒  โดยจะยังคงหน่วยทหารด้านการช่างบางหน่วยเท่าที่จำเป็น  รวมทั้งให้คงหน่วยสังเกตการณ์กองกำลังทางเรือและอากาศเท่าที่จำเป็นอยู่ต่อไป  และสัญญาว่าสหรัฐอเมริกาจะให้อาวุธสมัยใหม่ทดแทนมีมูลค่ากว่า  ๒,๐๐๐  ล้านดอลลาร์  สำหรับเหตุการณ์ของรัฐบาลคาร์เตอร์ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นการกดดันแนวนโยบายของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ปราบปรามประชาชนด้วย
                อย่างไรก็ดี  สหรัฐอเมริกาได้พยายามชักจูงให้ญี่ปุ่นซึ่งเคยมีอำนาจเหนือเกาหลีในอดีต  เข้าร่วมมีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากยิ่งขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่สหรัฐอเมริกามีสัมพันธภาพทางการทูตขั้นปกติกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเช่นเดียวกับญี่ปุ่น  ยิ่งทำให้ความร่วมมือในลักษณะดังกล่าวเป็นปึกแผ่นกว้างขวางยิ่งขึ้น  ดังเช่นการที่ได้มีประกาศในแถลงการณ์ร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน  ค.ศ. ๑๙๗๐  ว่า  ความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลีและบริเวณเกาะไต้หวันเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นมีความห่วงใยมาก  รวมทั้งการที่ญี่ปุ่นมีสัมพันธภาพทางการทูตและการค้ากับเกาหลีใต้อย่างแน่นแฟ้น  นอกจากมีการติดต่อค้าขายกันอย่างกว้างขวางแล้วญี่ปุ่นยังมีส่วนช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ  แก่เกาหลีใต้อีกด้วย  เช่น  การสร้างโรงงานถลุงเหล็กขนาดใหญ่  เป็นต้น  เป้าหมายสำคัญก็เพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในภูมิภาคนี้เป็นสำคัญ  เป็นไปได้ว่าในอนาคตสาธารณรัฐประชาชนจึงซึ่งมีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือ  อาจจะมีส่วนผลักดันร่วมกับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นซึ่งมีอิทธิพลต่อเกาหลีใต้  ให้โน้มนำไปสู่การเจรจาตกลงปัญหาการรวมชาติเกาหลีในอนาคต  แต่แนวโน้มดังกล่าวดูจะไม่แจ่มใสนักเมื่อนายโรแนล  เรแกน  ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี  เนื่องจากมีนโยบายอนุรักษ์นิยมและต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างมาก  อันจะเป็นผลให้สหรัฐอเมริกายังคงสนับสนุนการปกครองโดยรัฐบาลของเกาหลีใต้ต่อไป  เพื่อป้องกันภัยจากเกาหลีเหนือ  รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียต
                ๓.  ปัญหาและอนาคตด้านเศรษฐกิจและสังคมของเกาหลีใต้
                        ๓.๑  ปัญหาและอนาคตด้านเศรษฐกิจของเกาหลีใต้
                        แม้เกาหลีใต้จะประสบความสำเร็จด้านความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกก็ตาม  กระนั้น  ก็ยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ  ทั่วโลกด้วย  ที่สำคัญคือ  การที่รัฐบาลเกาหลีใต้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมมากเป็นพิเศษ  ทำให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรในชนบท  ที่มีช่องว่างทางรายได้ห่างไกลกันมาก  เกิดปัญหาด้านการกระจายรายได้และความเป็นธรรมในสังคม  แม้โดยส่วนรวมแล้วประชาชนเกาหลีใต้จะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มสูงขึ้นมากก็ตาม  แต่ส่วนใหญ่ได้รับรายได้เฉลี่ยต่ำกว่านายทุนอุตสาหกรรมอย่างมากมาย  แม้รัฐบาลจะมีนโยบายพัฒนาชนบทตามโครงการซามาเอิล  อุนดอง  ก็ยังไม่อาจแก้ปัญหานี้ให้หมดไปได้โดยเร็ว
                        อย่างไรก็ดี  แม้กรรมกรผู้ใช้แรงงานในเมืองจะได้รับค่าจ้างแรงงานต่ำ  ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อขยายตัวมากขึ้น  รัฐบาลก็กลับพยายามกดราคาค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเอาไว้เพื่อหวังเป็นเครื่องชักจูงชาวต่างชาติให้เข้าไปลงทุน  หากกรรมกรเกิดการรวมตัวประท้วงขนานใหญ่เพราะทนต่อสภาวะเงินเฟ้อไม่ไหว  อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ได้  นอกจากนั้น  ผลของการที่สินค้าออกของเกาหลีใต้มีราคาถูก  ทำให้ประเทศต่างๆ  ทั้งสหรัฐอเมริกา  ประเทศยุโรปตะวันตกได้ตั้งมาตรการเพื่อสกัดกั้นสินค้าของเกาหลีใต้  เกิดผลกระทบต่อการขยายการผลิต  และการส่งออกของเกาหลีใต้มากทีเดียว
                        มีข้อสังเกตว่า  สภาวะความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้  ในความเป็นจริงเป็นผลมาจากการกู้เงินจากต่างชาติเพื่อเพิ่มขยายการลงทุนเป็นส่วนใหญ่  หนี้ต่างประเทศของเกาหลีใต้ในปัจจุบันจึงสูงถึงประมาณ  ๑๐,๐๐๐  ล้านดอลลาร์  เมื่อไม่สามารถเพิ่มขยายการส่งออกเพื่อแสวงหาเงินตราต่างประเทศมาชดใช้เงินกู้เพื่อผดุงฐานะทางเศรษฐกิจปัญหายุ่งยากต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน  นอกจากการผลิตอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกกำลังถึงจุดอิ่มตัวแล้ว  ต้นทุนการผลิตด้านแรงงานและพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันก็มีมูลค่าสูงขึ้น  รวมทั้งปัญหาภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก  ปรากฏว่าใน  ค.ศ. ๑๙๗๙  เกาหลีใต้ขาดดุลถึง  ๓,๐๐๐  ล้านดอลลาร์  และการที่เกาหลีใต้ต้องพึ่งพลังงานโดยสั่งน้ำมันเป็นสินค้าเข้าจากต่างประเทศถึงประมาณร้อยละ  ๗๐  ของสินค้าเข้าทั้งหมด  เนื่องจากเป็นประเทศอุตสาหกรรม  ขณะที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นมากเป็นผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ  ๓๐
                        สิ่งที่รัฐบาลชุนดูฮวานพยายามแก้ไข  คือ  ต้องพยายามหาทางขยายการลงทุนไปยังประเทศอื่นที่มีแรงงานราคาถูกและเป็นแหล่งวัตถุดิบและตลาดสินค้า  ชุนดูฮวานได้เพ่งเล็งมาที่กลุ่มประเทศสมาคมอาเซียนบางประเทศ  ที่มีความสามารถทางการผลิตอุตสาหกรรมต่ำกว่า  จึงได้ตัดสินใจเดินทางมาเยือนกลุ่มประเทศอาเซียนเมื่อเดือนมิถุนายน  ค.ศ. ๑๙๘๑  ชุนดูฮวานคงตระหนักดีถึงความสำคัญของอาณาบริเวณแถบนี้  เนื่องจากเกาหลีใต้มีการค้าด้วยประมาณร้อยละ    ของการค้าต่างประเทศของตนทั้งหมด  นอกจากนั้น  ประเทศในกลุ่มอาเซียนยังเป็นทั้งตลาดและแหล่งวัตถุดิบทางอุตสาหกรรมที่สำคัญของเกาหลีใต้  ซึ่งต้องอาศัยดีบุก  ยางพารา  ไม้สักถึงร้อยละ  ๘๐  และน้ำมันจากอินโดนีเซียถึง  ๑๕,๐๐๐  บาเรลต่อวันอีกด้วย
                        ปัจจัยต่างๆ  ดังกล่าวอาจจะเป็นผลผลักดันให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องหันไปเร่งรัดพัฒนาการเกษตรในชนบทเพิ่มมากขึ้น  เพื่อแก้ไขภาวการณ์ขาดแคลนอาหารบริโภคภายในประเทศ  และเน้นการกระจายรายได้และความเป็นธรรมภายในประเทศให้ดีขึ้น  ขณะที่จำเป็นต้องลดการขยายการเจริญเติบโตภาคอุตสาหกรรมลงควบคู่ไปกับการหาทางขยายตลาดสินค้าอุตสาหกรรมใหม่ๆ  มากขึ้น
                        ๓.๒  ปัญหาและอนาคตด้านสังคมของเกาหลีใต้
                        เนื่องจากเกาหลีใต้เน้นพัฒนาประเทศ  ให้เป็นประเทศพัฒนาทางอุตสาหกรรมทำให้เกิดเขตอุตสาหกรรมบริเวณชานเมืองขึ้นอย่างมากมาย  ทำให้ประสบปัญหาทางสังคมคล้ายกับปัญหาของนครหรือเมืองใหญ่ในประเทศอื่นๆ  ทั่วไป  คือ  การที่คนชนบทอพยพละทิ้งอาชีพทางการเกษตรซึ่งประสบความล้มเหลวในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่  เข้าสู่ตัวเมืองเพื่อประกอบอาชีพเป็นกรรมกร  ปัญหาประชากรหนาแน่นในเมืองของเกาหลีใต้ดังกล่าวนับได้ว่าอยู่ในระดับรุนแรง  โดยเฉพาะในช่วงที่ยังไม่มีการพัฒนาฟื้นฟูอาชีพการเกษตรในชนบทตามโครงการซามาเอิล  อุนดอง  เป็นผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ  ติดตามมาเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาคนว่างงาน  ปัญหาอาชญากรรม  ปัญหาขาดแคลนสิ่งสาธารณูปโภคและสวัสดิการสังคมต่างๆ  และปัญหาการจราจรติดขัด  เป็นต้น  มีผลกระทบต่อเสถียรภาพและความสงบของประชาชนอย่างมาก
                        อย่างไรก็ดี  แม้ว่าต่อมารัฐบาลเกาหลีใต้จะได้เร่งรัดพัฒนาเพื่อฟื้นฟูเกษตรกรรมในชนบทแล้วก็ตาม  ก็ยังไม่สามารถขจัดปัญหาความยากจนของบรรดาผู้ใช้แรงงานทั้งกรรมกรในเมืองและชาวนาชาวไร่ในชนบทให้หมดไปได้
ปัญหาการรวมเกาหลี
                การแบ่งแยกชั่วคราวระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้    เส้นขนานที่  ๓๘  ตั้งแต่วันที่  ๒๗  กรกฎาคม  ค.ศ. ๑๙๕๓  เป็นต้นมาจนบัดนี้  ประมาณ  ๓๐  ปีแล้ว  ก็ยังไม่สามารถรวมเกาหลีให้กลับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้แม้ว่าทั้ง    ฝ่ายจะมีความเห็นตรงกันว่าต้องรวมกันก็ตาม  ด้วยต่างฝ่ายต่างก็ไม่ไว้วางใจกัน  ฝ่ายเกาหลีใต้โจมตีว่าผู้นำเกาหลีเหนือยังไม่เลิกล้มแผนการที่จะยกทัพบุกเกาหลีใต้  และรวมประเทศด้วยกำลังให้เป็นคอมมิวนิสต์  ฝ่ายเกาหลีเหนือก็โจมตีว่าสหรัฐอเมริกาเป็นต้นเหตุสำคัญที่เข้าไปยึดครองเกาหลีใต้เพื่อหวังผลอิทธิพลเข้าครองเอเชีย  ตลอดระยะเวลาเกือบ  ๓๐  ปี  ได้มีการเสนอเงื่อนไขการรวมประเทศกว่า  ๑๐๐  ครั้ง  แต่ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน  ข้อเสนอที่สำคัญเช่น  ในวันที่  ๒๓  มิถุนายน  ค.ศ. ๑๙๖๓  คิมอิลซุงแห่งเกาหลีเหนือได้เสนอหลักการในการรวมประเทศ  โดยเสนอให้ตั้งสมาพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยโคเรียว  (Republic of Koryo)  เป็นตัวแทนของเกาหลีทั้งสอง  ให้มีผู้แทนจากทั้ง    ฝ่ายจำนวนเท่ากันเป็นผู้บริหารสมาพันธ์เพื่อร่วมมือกันทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในการรวมประเทศ  รวมทั้งสมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในนามสมาพันธ์  ทั้งนี้โดยไม่ให้ต่างชาติเข้าเกี่ยวข้อง  แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ  ข้อเสนอฝ่ายเกาหลีเหนือมีเงื่อนไขสำคัญ   ขั้นตอน  คือ  ขั้นแรกให้ถอนทหารอเมริกันออกไปจากเกาหลีใต้  ต่อมาให้ตกลงทำสนธิสัญญาสันติภาพ  และขั้นสุดท้ายให้ลดกำลังรบระหว่างประเทศทั้งสองให้กำลังต่ำกว่า  ๑๐๐,๐๐๐  คน  แต่ประธานาธิบดีปักจุงฮีปฏิเสธ  และโจมตีว่าเกาหลีเหนือประสงค์ที่จะรวมชาติโดยใช้กำลังและไม่มีความจริงใจ
                อย่างไรก็ดี  ต่อมารัฐบาลเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ได้ตกลงเปิดให้มีการเจรจากันเพื่อลดความตึงเครียดที่เมืองปันมุนจอม  ระหว่างวันที่  ๑๗  กันยายน -  มิถุนายน  ค.ศ. ๑๙๗๙  ในรูปคณะกรรมการเหนือ - ใต้  (South - North Coordinating Committee)  ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นระหว่างการเจรจากับเกาหลีใต้ใน  ค.ศ. ๑๙๗๒ - ๑๙๗๓  แต่ฝ่ายเกาหลีเหนืออ้างว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวหมดสภาพไปตั้งแต่    ปีก่อนแล้ว  แต่ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการรวมปิตุภูมิ  (Democratic Front For the Unifications of the Father Land)  ผู้แทนเกาหลีเหนือเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการรวมเกาหลีเพื่อดำเนินการสำหรับจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติ  และเสนอให้คณะเจ้าหน้าที่ติดต่อของทั้ง    ฝ่ายพบกันทุกสัปดาห์เพื่อหารือกัน  ฝ่ายเกาหลีใต้โจมตีฝ่ายเกาหลีเหนือว่าไม่จริงใจต่อการเจรจา  โดยส่งผู้แทนแนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อการรวมปิตุภูมิเข้าร่วมเจรจา  มิใช่เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง  จึงยุติการเจรจา  แต่ได้ตกลงกันในหลักการ  ให้รื้อฟื้นการติดต่อทางโทรศัพท์สายด่วนระหว่างกรุงโซลและกรุงเปียงยางขึ้นใหม่
                ในการเจรจาระหว่างวันที่  ๗ - ๑๔  มีนาคม  ค.ศ. ๑๙๗๙  เกาหลีใต้ได้เสนอให้เปิดเจรจาระดับคณะทำงานขึ้นในวันที่  ๒๘  มีนาคม  ค.ศ. ๑๙๗๙  เพื่อพิจารณาถึงสถานะของคณะกรรมการประสานงานเหนือ - ใต้  แต่ผู้แทนเกาหลีเหนือได้ยื่นข้อเสนอว่าหากเกาหลีใต้ยินยอมยกเลิกปัญหาเรื่องคณะกรรมการดังกล่าว  ฝ่ายเกาหลีเหนือยินดีจะให้คณะผู้แทนของตนเปลี่ยนสภาพเป็นตัวแทนของรัฐบาล  และพรรคกรรกรเกาหลีเหนือ  เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องในตอนแรกของเกาหลีใต้  พร้อมกับเสนอให้เปิดการเจรจาดังกล่าวขึ้นในวันที่    เมษายน  ค.ศ. ๑๙๗๙  แต่ฝ่ายเกาหลีใต้ปฏิเสธ  อย่างไรก็ดี  ต่อมาในเดือนมิถุนายน  ค.ศ. ๑๙๘๑  ชุนดูฮวานได้เสนอให้เปิดประชุมสุดยอดกับคิมอิลซุงแห่งเกาหลีเหนือโดยตรงขึ้นเพื่อหาทางร่วมกันโดยสันติวิธี  โดยยอมให้ฝ่ายเกาหลีเหนือเป็นผู้กำหนดเวลาและสถานที่  หลังจากที่คิมอิลซุงปฏิเสธคำเชิญของซุนดูฮวานให้ไปเยือนกรุงโซล  แต่ก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกัน  ปัญหาการรวมเกาหลีจึงยังคงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการหาทางเจรจาปรองดองกันด้วยความจริงใจอีกมาก  จึงจะบรรลุถึงความเป็นเอกภาพของประเทศชาติและประชาชนเกาหลีอย่างแท้จริง