วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จีนหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม

บทที่  ๓
การเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคมของสาธารณรัฐประชาชนจีน
หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมถึงปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลากว่า  ๓๐  ปี  ตั้งแต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตงสามารถสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนสำเร็จใน  ค.ศ. ๑๙๔๙  ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายกลับไปกลับมาในลักษณะการต่อสู้  ๒  แนวทางตลอดมา  กล่าวคือ
                ในด้านการเมืองภายในและการต่างประเทศ  จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างแนวทางปฏิวัติและการอยู่รวมกันอย่างสันติเพื่อความมั่นคน  นั่นก็คือ  เมื่อใดที่การเมืองภายในและการต่างประเทศเน้นแนวการปฏิวัติ  จะส่งผลกระทบถึงการมีแนวทางด้านเศรษฐกิจที่เน้นการเฉลี่ยกระจายแบบสังคมนิยมตามหลักเสมอภาคทางเศรษฐกิจ  ด้วยการให้แต่ละชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองหรือพึ่งตัวเองได้  จึงมีระบบการแจกแจงรายได้  และการแจกแจงอำนาจและอภิสิทธิ์  รวมทั้งอำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิต  โดยให้เป็นสิทธิของแต่ละชุมชนดำเนินการเองอย่างอิสระ  เพื่อจะได้บรรลุจุดประสงค์ตามหลักการพึ่งพาตนเอง  เช่น  สมัยปฏิวัติวัฒนธรรม  แต่เมื่อใดที่การเมืองภายในและการต่างประเทศเน้นแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเพื่อความมั่นคง  จะส่งผลกระทบถึงแนวทางด้านเศรษฐกิจที่มีการเน้นความเจริญเติบโตแบบทุนนิยม  คือ  การที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการลงทุนของเอกชนมากขึ้น  มีการแข่งขันกันผลิตโดยรัฐบาลควบคุมอยู่ห่างๆ  โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกแห่งราคาในตลาด  เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนได้แข่งขันกันมากขึ้นอันจะทำให้กิจการต่างๆ  ขยายตัวเพิ่มขึ้น  ลักษณะดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นในระยะ  ๙  ปีโดยประมาณ
โรงงานอุตสาหกรรมริมฝั่งแม่น้ำแยงซีในประเทศจีน
                ในด้านเศรษฐกิจ  จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างแนวทางพัฒนาที่เน้นการเฉลี่ยกระจายแบบสังคมนิยม  และแนวทางพัฒนาที่เน้นความเจริญเติบโตแบบทุนนิยม  ที่สอดคล้องกับแนวทางการเมืองภายในและการต่างประเทศ  ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงสภาพทางสังคมด

ในด้านสังคม    มีประชากรมากถึงประมาณ  ๑,๐๐๐  ล้านคน  ซึ่งสูงเป็นอันดับ  ๑  ของโลก  ขณะที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยระหว่างช่วง  ค.ศ. ๑๙๘๐  ปรากฏว่ามีการขยายตัวของประชากรถึงร้อยละ  ๑.๒  สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงตั้งเป้าหมายจะพยายามควบคุมการขยายตัวของประชากรให้เหลือเพียงประมาณร้อยละ  ๐.๕  ภายใน  ค.ศ. ๑๙๘๕  และให้เท่ากับร้อยละ  ๐  ใน  ค.ศ. ๒๐๐๐  ปัญหาประชากรดังกล่าวทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาคนว่างงานให้ทุเลาเบาบางไปได้โดยง่าย  ก่อให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทมากขึ้น  แม้ว่าในปัจจุบันจะได้ดำเนินมาตรการปรับตัวทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขแล้วก็ตาม
                นอกจากนั้น  ยังมีปัญหาสังคมเกิดขึ้น  อันเนื่องมาจากการเปิดรับความเจริญก้าวหน้าแบบประเทศทุนนิยมตะวันตก  ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมของประเทศ  โดยเฉพาะหากไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม  อาจกระทบต่อโครงสร้างของระบบสังคมทั้งหมดในระยะยาวได้  เช่น  ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง  และปัญหาอาชญากรรม  เป็นต้น  อันเนื่องมาจากความปรารถนาวัตถุโดยปราศจากขอบเขต
ชุดกี่เพ้า
                การเปลี่ยนแปลงของสาธารณรัฐประชาชนจีนดังกล่าว  ช่วยชี้ให้เห็นพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงในลักษณะวัฏจักรทั้งทางการเมือง  การต่างประเทศ  และเศรษฐกิจสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดี  และช่วยชี้ให้เห็นแนวโน้มอีกประการหนึ่งด้วยว่า  สาธารณรัฐประชาชนจีนจะกลายเป็นประเทศสำคัญ  ที่จะมีบทบาทในการเมืองร่วมกับมหาอำนาจอื่นๆ  อันได้แก่  สหรัฐอเมริกา  สหภาพโซเวียต  ญี่ปุ่น  และประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตกทั้งอังกฤษ  ฝรั่งเศส  เยอรมนี  ฯลฯ  ไม่ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะหันเหนโยบายไปในทิศทางใดก็ตาม
สิ่งที่ควรรู้
                ๑.  ประชาธิปไตยรวมศูนย์  คือ  รูปการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อื่นๆ  ที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว  คือ  พรรคคอมมิวนิสต์  ที่ถือว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อต้องการขจัดปัญหาความแตกต่างระหว่างชนชั้นให้หมดไป  ในทางปฏิบัติ  พรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่างๆ  ตั้งแต่ส่วนกลางจนกระทั่งส่วนท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ  ทั้งนี้โดยปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องที่  วิธีการดังกล่าวฝ่ายโลกเสรีได้โจมตีว่าเป็นเผด็จการเพราะไม่ยินยอมให้มีพรรคฝ่ายค้าน  อย่างไรก็ดี  สาธารณรัฐประชาชนจีนในยุค  ๔  ทันสมัย  ก็ได้พยายามปรับปรุงวิธีการต่างๆ  ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  แม้ว่าจะยังคงมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว  ด้วยเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่เข้าไปแทรกแซงการบริหารงานของรัฐบาลมากดังแต่ก่อน  แต่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาล  โดยพรรคจะหันไปให้ความสำคัญด้านบทบาทการเป็นผู้นำทางการเมืองด้านนโยบายมากขึ้น
                ๒.  ๔  ทันสมัย  คือ  นโยบายของกลุ่มนักปฏิบัติ  ซึ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีและการลงทุนจากภายนอก  เพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย  นโยบาย  ๔  ทันสมัยริเริ่มนำไปใช้อย่างจริงจังครั้งแรกภายใต้การนำของโจวเอินไหล  และได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งภายใต้การผลักดันของเติ้งเสี่ยวผิงภายหลังมรณกรรมของเหมาเจ๋อตง  นโยบายนี้มุ่งดำเนินการใน  ๔  ด้าน  คือ  เกษตรกรรมทันสมัย  อุตสาหกรรมทันสมัย  การป้องกันประเทศทันสมัย  และเทคโนโลยีทันสมัย  โดยพยายามประยุกต์ใช้วิธีการจัดการบริหารแบบประชาธิปไตยตะวันตก  เพื่อสร้างความมีประสิทธิภาพของระบบด้วย
                ๓.  หลัก  ๔  ใหญ่  คือ  หลักการสำคัญ  ๔  ประการ  ได้แก่  การแสดงทัศนะอย่างเสรี  การแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่  การอภิปรายโต้แย้งอย่างกว้างขวาง  และการปิดโปสเตอร์หนังสือตัวโต  ที่เหมาเจ๋อตงสนับสนุนให้ใช้อย่างกว้างขวางในสมัยปฏิวัติ  โดยมีจุดมุ่งหมายรณรงค์ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์โจมตีแนวความคิดของฝ่ายที่ยอมรับระบอบทุนนิยมตะวันตกไปใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน  ซึ่งเหมาเจ๋อตงโจมตีว่าเป็นลัทธิแก้  เหมาเจ๋อตงเกรงว่าการเดินตามแนวทางทุนนิยมจะมีอิทธิพลเบี่ยงเบนและเป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ในอุดมคติ  ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาเจ๋อตงมีจุดมุ่งหมายแอบแฝงอยู่  ที่จะใช้วิธีการรณรงค์ดังกล่าวเพื่อขจัดคู่แข่งทางการเมืองของตนพร้อมกันไปด้วย  ต่อมา  เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงผลักดันให้ใช้นโยบาย  ๔  ทันสมัย  จึงสั่งห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองของประชาชนอย่างเสรี  ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบถึงนโยบายดังกล่าว
                ๔.  ลัทธิเหมา  คือ  แนวความคิดของเหมาเจ๋อตงที่เน้นการปฏิวัติแบบชนบทล้อมเมือง  โดยถือเอาชาวนาชาวไร่ในชนบทเป็นแนวหน้าของการปฏิวัติ  เพื่อประสานกับกรรมกรในเมือง  ซึ่งต่างจากยุทธวิธีการปฏิวัติของสหภาพโซเวียต  ที่เน้นการปฏิวัติโดยมีกรรมกรเป็นหลักในการยึดอำนาจรัฐจากตัวเมืองแล้วขยายไปสู่ชนบท  ยุทธวิธีการปฏิวัติของเหมาเจ๋อตงจะใช้สงครามกองโจรคอยซุ่มโจมตีทำลายกองกำลังของปรปักษ์  ขณะเดียวกันก็ปลุกระดมมวลชนขายเขตฐานที่มั่นในชนบทเพื่อขยายแนวร่วมการสู้รบยึดอำนาจรัฐในที่สุด  เป้าหมายหลักของลัทธิเหมา  คือ  การปฏิวัติแบบพึ่งตนเองเพื่อต่อต้านอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต  ๒  อภิมหาอำนาจที่พยายามจะเข้าแทรกแซงในโลกที่  ๓  เพื่อครอบครองโลก  โดยเฉพาะในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นเขตอิทธิพล
                ๕.  ทฤษฎี  ๓  โลก  คือ  นโยบายที่เหมาเจ๋อตงและผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนคนอื่นๆ  เรียกร้องให้โลกที่  ๓  ซึ่งประกอบด้วย  ประเทศด้วยพัฒนาในเอเชีย  แอฟริกา  และละตินอเมริการ่วมมือกับประเทศในกลุ่มโลกที่  ๒  คือ  ประเทศที่พัฒนาแล้ว  ได้แก่  ยุโรปตะวันตก  แคนาดา  ญี่ปุ่น  ออสเตรเลีย  และนิวซีแลนด์  รวมทั้งประเทศในยุโรปตะวันออก  เพื่อร่วมกันต่อต้านประเทศในโลกที่  ๑  โดยมีสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นศัตรูสำคัญ  แต่ในยุค  ๔  ทันสมัย  เติ้งเสี่ยวผิงได้ปรับยุทธศาสตร์เสียใหม่ด้วยการเน้นต่อต้านสหภาพโซเวียตเป็นสำคัญ  เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเชื่อว่าปัจจุบันสหภาพโซเวียตมีนโยบายคุกคามที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลก  จึงจำเป็นต้องรวมพลังอำนาจต่างๆ  ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อต่อต้าน  ขณะเดียวกัน  ก็เป็นประโยชน์ต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สามารถเรียกร้องความช่วยเหลือร่วมมือทางเศรษฐกิจจากประเทศต่างๆ  ที่พัฒนาแล้วเพื่อบรรลุนโยบาย  ๔  ทันสมัยอีกด้วย
ชายฝั่งทะเลจีนใต้ในไหหนาน
                ๖.  ลัทธิครองความเป็นเจ้า  เป็นถ้อยคำที่สาธารณรัฐประชาชนจีนให้เรียกประมาณเป้าหมายนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียต  ว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะขยายอิทธิพลเพื่อครอบครองโลก  โดยอ้างว่าเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์  สาธารณรัฐประชาชนจีนได้โจมตีคัดค้านวิธีการของสหภาพโซเวียตในการสนับสนุนการปฏิวัติในประเทศต่างๆ  โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาในโลกที่  ๓  ว่ามีลักษณะเข้าแทรกแซงครอบงำโดยเปิดเผย  อันเป็นการละเมิดอธิปไตยเหนือดินแดน  วิธีการขยายอิทธิพลและอุดมการณ์ของสหภาพโซเวียตดังกล่าว  สาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่าเป็นวิธีการของประเทศจักรวรรดินิยมเข้ายึดครองดินแดนประเทศอื่นเป็นเมืองขึ้น  ในฐานะที่สหภาพโซเวียตเป็นประเทศสังคมนิยม  สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงเรียกชื่อว่าเป็นประเทศสังคมจักรพรรดินิยม

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน คศ.1966-1976


ใบความรู้เรื่อง
การปฏิวัติวัฒนธรรมในสาธารณรัฐประชาชนจีน  ค.ศ. ๑๙๖๖-๑๙๗๖  
                การปฏิวัติวัฒนธรรม  (Cultural Revolution)  ในสาธารณรัฐประชาชนจีนนับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญยิ่งเหตุการณ์หนึ่ง  นับตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะปกครองสาธารณรัฐประชาชนจีน  ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของประชาชน  โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำใน  ค.ศ. ๑๙๔๙  ก่อนเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมใน  ค.ศ. ๑๙๖๖  สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ใช้ระบอบการปกครองนี้มาเป็นเวลา  ๑๗  ปี  ตลอดระยะเวลาดังกล่าวปรากฏชัดว่าไม่สามารถแก้ปัญหาบางด้านที่เป็นผลจากระบอบการปกครองเดิมในสมัยรัฐบาลก๊กมินตั๋งให้หมดสิ้นไปได้  เช่น  ระบอบข้าราชการอิทธิพล  ระบอบนายทุน  และยิ่งกว่านั้น  ก็คือ  การที่สาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียตมีความขัดแย้งกันมากขึ้น  เมื่อ สตาลินผู้นำของสหภาพโซเวียตถึงแก่กรรมใน  ค.ศ. ๑๙๕๓  ความขัดแย้งนี้มีสาเหตุจากการที่เหมาเจ๋อตงไม่พอใจสหภาพโซเวียตที่มีนโยบายปฏิบัติออกนอกแนวทางอุดมการณ์การปกครองประเทศคอมมิวนิสต์  โดยใช้นโยบายใหม่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนโจมตีว่าเป็น  ลัทธิแก้ (Revisionism)  ซึ่งในทัศนะของสาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่าเป็นการส่งเสริมระบอบทุนนิยม  ทั้งนี้  เพราะสหภาพโซเวียตเน้นว่า  วิธีการปฏิวัติโลกให้เป็นคอมมิวนิสต์นั้นไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการรุนแรงเพียงประการเดียวในการปฏิวัติสังคม
                สำหรับเหมาเจ๋อตงมีความยึดมั่นว่า  การปฏิวัติในประเทศต่างๆ  นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  เพราะรัฐบาลนายทุนที่ปกครองประเทศต่างๆ  จะไม่ยอมสละอำนาจให้คอมมิวนิสต์โดยไม่คิดต่อสู้  สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงสนับสนุนการปฏิวัติในประเทศต่างๆ  โดยเฉพาะประเทศที่เพิ่งได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่  ๒  เช่น  ด้วยการส่งอาวุธและส่งเงินไปใช้ขบวนการปฏิวัติในเอเชีย  แอฟริกา  และละตินอเมริกา  เพื่อล้มล้างรัฐบาลซึ่งตนถือว่าเป็นตัวแทนของระบอบนายทุน
(ลัทธิแก้  เป็นถ้อยคำที่ฝ่ายเหมาเจ๋อตงและกลุ่มสี่คนใช้เรียกโจมตีฝ่ายที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยการเปิดรับเทคโนโลยี  และวิธีการของประเทศทุนนิยมตะวันตกมาใช้  กลุ่มของเหมาเจ๋อตงซึ่งเน้นทำการปฏิวัติตลอดกาล  เพื่อให้บรรลุถึงสังคมคอมมิวนิสต์ในอุดมคติ  ต่างพากันกล่าวหาพวกนี้ว่า  เป็นลัทธิแก้หรือเป็นพวกฝ่ายขวาที่เดินตามแนวทางประเทศทุนนิยม  เนื่องจากกลุ่มนี้เน้นปรับเอาหลักการบางอย่างของประเทศทุนนิยมมาใช้  เช่น  การให้มีการค้าขายส่วนตัวบางประการ  ให้มีเงินตอบแทนพิเศษหรือเงินโบนัส  เป็นต้น  สิ่งต่างๆ  เหล่านี้ทำให้กลุ่มเหมาเจ๋อตงเกรงไปว่าจะนำไปสู่การฟื้นตัวของลัทธิทุนนิยมขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีน  จึงทำการโจมตีต่อต้านอย่างขนานใหญ่  เช่น  ทำการปฏิวัติวัฒนธรรม  เป็นต้น  นอกจากนั้น  เหมาเจ๋อตงยังได้โจมตีกลุ่มนี้อีกว่า  เป็นกลุ่มที่ต้องการให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเน้นแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ  มากกว่าการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนาม  หรือเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียต  ด้วยเหตุนี้จึงต้องการสันติภาพหรือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับประเทศทุนนิยม  เช่นเดียวกับนโยบายของสหภาพโซเวียตในสมัยครุสซอฟ  ที่ถูกเหมาเจ๋อตงโจมตีว่าถือตามลัทธิแก้)
ก.  สาเหตุสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรม  มีทั้งสาเหตุภายในและภายนอก  ดังนี้
                ๑.  เนื่องจากเหมาเจ๋อตงมีความคิดขัดแย้งต่อนโยบายคอมมิวนิสต์ของสหภาพโซเวียต  โดยเห็นว่าผิดไปจากแนวทางของระบอบคอมมิวนิสต์ที่แท้จริง  และที่สำคัญคือ  นโยบายแบบสหภาพโซเวียตที่มีผลต่อสถานการณ์ทางการเมืองภายในสาธารณรัฐประชาชนจีน  นั่นคือ
                        -  เริ่มมีกลุ่มผู้บริหารระดับสูงบางกลุ่มมีแนวความคิดต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแนวทางอุดมการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์  กลุ่มผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนกลุ่มนี้มี  ประธานาธิบดีหลิวซ่าวฉี (Liu Shao Ch’i)  เป็นผู้นำ  ร่วมด้วยเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์  เติ้งเสี่ยวผิง (Teng Hsiao P’ing)  บุคคลกลุ่มนี้ได้คัดค้านเหมาเจ๋อตงว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นในทฤษฎีและหลักการของตนมากเกินไป  เหมาเจ๋อตงจึงไม่พอใจและถือว่ากลุ่มนี้มีแนวความคิดแบบสหภาพโซเวียต  ซึ่งเป็นลัทธิแก้หรือเดินตามแนวทางทุนนิยม
                        -  เกิดจากการขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมือง 
                        -  จากการที่บรรดาผู้มีความรู้หรือปัญญาชนจำนวนมากของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมือง  ได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ปัญญาชนได้แสดงความคิดเห็นโดยกว้างขวาง  เช่น  ขบวนการบัวบานบนแผ่นดินแดง  และขบวนการดอำไม้ทั้งร้อยดอกบานสะพรั่ง  โดยมุ่งให้ความสนใจต่อการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ  ทางด้านอุดมการณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ในทางสากล 
                ๒.  เหมาเจ๋อตงเกิดความไม่แน่ใจในอนาคตการปฏิวัติของสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วยเกรงว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งชนะในสงครามกลางเมืองจะกลายเป็นฝ่ายแพ้ในการสร้างชาติ  จึงผลักดันให้ประชาชนทำการปฏิวัติจิตสำนึกทางการเมือให้ตระหนักในความสำคัญของการปฏิวัติตลอดกาล  เพื่อต่อต้านระบอบทุนนิยมที่เลวร้าย  โดยยึดมั่นในหลักการและคำสอนของเหมาเจ๋อตงเป็นสำคัญ
                ๓.  เนื่องจากเหมาเจ๋อตงถูกโจมตีในเรื่องความล้มเหลวของขบวนการก้าวกระโดดไกล  จึงหันมาทำการปฏิวัติวัฒนธรรม  เพื่อให้ประชาชนให้การสนับสนุนตนตามเดิมเพราะจากโครงการก้าวกระโดด
ข.  จุดมุ่งหมายของการปฏิวัติวัฒนธรรม
                แนวทางการดำเนินการแบ่งได้เป็น  ๔  ด้าน  คือ
๑.      จะต้องยุติการต่อสู้และความขัดแย้งทางการเมืองในระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
๒.    ป้องกันไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิด  หรืออุดมการณ์ที่เดินตามแนวทางลัทธิแก้ของสหภาพโซเวียต
๓.     ทำให้ปัญญาชนมีความเข้าใจในลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างถูกต้องและรวมพลังกันให้ปฏิบัติไปในแนวทางดังกล่าวร่วมกัน
๔.     จะต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเห็นว่า  การปฏิวัตินั้นเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ  ได้  เพราะฉะนั้นประชาชนจะต้องมีจิตใจปฏิวัติที่เข้มข้นมีความจริงใจ  และมีศรัทธาต่อพรรคคอมมิวนิสต์เป็นอันดับแรก
ค.  การดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรม
                การปฏิวัติวัฒนธรรมแบ่งออกได้เป็น  ๒  ระยะ  คือ  ในระยะแรกระหว่าง  ค.ศ. ๑๙๖๖ - ๑๙๖๗  และระยะที่  ๒  ระหว่าง  ค.ศ. ๑๙๖๗ - ๑๙๗๑  รวมระยะเวลาการปฏิวัติวัฒนธรรมได้ประมาณถึง  ๖  ปี  นับว่าเป็นการปฏิวัติที่ใช้เวลายาวนานทีเดียว  การปฏิวัติวัฒนธรรมในระยะ  ๒  ปีแรก  (ค.ศ. ๑๙๖๖ - ๑๙๖๗)  เป็นช่วงของการดำเนินการปฏิวัติอย่างรุนแรง  โดยมีขบวนการเรดการ์ด (Red Guards)  เป็นผู้ดำเนินการ  มีทั้งการทำลายทรัพย์สินของรัฐและทำร้ายเยาวชนที่ประพฤติตัวแบบชนชั้นกลาง  แม้แต่ชื่อถนนหนทางที่มีลักษณะเจ้าขุนมูลนายก็มีการเปลี่ยนแปลงใหม่  บรรดาครูบาอาจารย์และข้าราชการระดับต่างๆ  จะต้องอยู่ภายใต้คำวินิจฉัยของขบวนการเรดการ์ดว่า  มีการกระทำอันใดไปในทางรับใช้ชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลางหรือไม่  นับว่าในระหว่างนี้ทุกสิ่งทุกอย่างถูกเปลี่ยนแปลงไปหมด  รวมทั้งการดำเนินชีวิตของประชาชน  นอกจากนั้นยังมีการสร้างกฎเกณฑ์สำหรับระบบสังคมใหม่  โดยการปฏิรูปโครงสร้างและองค์ประกอบของสาขา  พรรคทุกท้องถิ่นใหม่อีกด้วย  ส่วนในระยะที่  ๒  (ค.ศ. ๑๙๖๗ -๑๙๗๑)  เป็นการปฏิบัติงานต่อเนื่องกันเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะแรกเข้าสู่แนวทางของการปฏิวัติตามจุดมุ่งหมาย  โดยการดำเนินการอยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มสี่คน (Gang of Four)
                  ขั้นตอนของการดำเนินงานมีดังนี้คือ
                ๑.  การกวาดล้างผู้ที่มีความคิดต่อต้าน 
                ๒.  ควบคุมด้านการทหารให้อยู่ในอำนาจ    ยกเลิกการใช้เครื่องแบบและเครื่องหมาย  เป็นต้น  เพื่อให้เกิดความเสมอภาค  และเน้นการสอนให้ทุกกองทัพสนใจการศึกษาความคิดของเหมาเจ๋อตง  เพื่อให้มีจิตใจที่ปฏิวัติ
                ๓.  เหมาเจ๋อตงได้จัดตั้งขบวนการเรดการ์ดขึ้นใน  ค.ศ. ๑๙๖๖  ขบวนการนี้ประกอบด้วยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาและนิสิตนักศึกษา  โดยมีอุดมการณ์เพื่อรักษาแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์ให้คงอยู่ตลอดไป  เหมาเจ๋อตงเน้นสั่งสอนให้คนเหล่านี้มีความคิดในการปฏิวัติอยู่ตลอดเวลา  พร้อมทั้งให้การสนับสนุนพวกเยาวชนเรดการ์ดโจมตีกลุ่มที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคและอุดมการณ์ของลัทธิคอมมิวนิสต์  ภายในเวลาเพียง  ๑  ปี  ขบวนการนี้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นถึง  ๑๐  ล้านคน  คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงได้รับรองขบวนการนี้ให้เข้ามีส่วนร่วมรับผิดชอบทางการเมืองของประเทศ
                ๔.  การจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรม  คณะกรรมการนี้มีทั้งหมด  ๑๗  คน    ผู้ที่มีบทบาทมากคือ  เฉินป๋อต๋า (Ch’en Po Ta)  รองลงมาคือ  กลุ่มสี่คน  ซึ่ง  ๑  ใน  ๔  คนนี้มีนางเจียงชิง (Chiang Ch’ing)  ภรรยาของเหมาเจ๋อตงรวมอยู่ด้วย  ในกลุ่มสี่คนนี้  จางชุนเฉียว (Chang Chun Chiao)  มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการแผนกโฆษณาของคณะกรรมการเซี่ยงไฮ้ใน ค.ศ. ๑๙๖๕  เจียงชิงเป็นรองประธานคนที่  ๓  ของสภาประชาชนแห่งชาติใน  ค.ศ. ๑๙๖๔ 
เหยาเหวิน หยวน
(Yao Wen Yuan)  ทำงานเขียนเกี่ยวกับอุดมการณ์และวัฒนธรรมแต่ไม่มีตำแหน่งบริหารใดๆ 
หวางหงเหวิน
(Wang Hong Wen)  เป็นผู้นำคนสำคัญในการชักชวนเรียกร้องให้กรรมการเข้ายึดโรงงาน  การขึ้นมามีอำนาจของกลุ่มสี่คนนั้นเป็นผลจากการที่เหมาเจ๋อตงต้องการคนที่มีแนวความคิดสนับสนุนตนจริงๆ  ทางด้านอุดมการณ์และวัฒนธรรมเพื่อเผยแพร่ความคิด 
(ขบวนการเรดการ์ด  เป็นขบวนการที่เริ่มมีขึ้นในสาธารณรัฐประชาชนจีนใน  ค.ศ. ๑๙๖๖  และสลายตัวไปใน  ค.ศ. ๑๙๖๙  ขบวนการนี้ประกอบด้วย  นักเรียนระดับมัธยมศึกษาและนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ  ที่มีอุดมการณ์เพื่อรักษาแนวทางของลัทธิคอมมิวนิสต์  โดยได้ร่วมกันดำเนินการต่อต้านการฟื้นฟูของลัทธิทุนนิยม  ด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรม  มาตรการที่ใช้  คือ  การปลุกระดมให้มีการปฏิวัติทั่วประเทศ  เพื่อมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยความคิดและวัฒนธรรมใหม่  ทำให้ขบวนการนี้มีฐานะเป็นองค์กรปฏิวัติ  โดยมีสมาชิกจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเข้าร่วมด้วย  ปรากฏว่าขบวนการนี้ได้แผ่ขยายจากโรงเรียนต่างๆ  ไปยังสังคม  และกระจายไปทั่วประเทศจนกลายเป็นพลังสำคัญในการปฏิวัติวัฒนธรรม  การที่ขบวนการนี้ได้เข้ามีส่วนร่วมในการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนสิงหาคม  ค.ศ. ๑๙๖๖  ทำให้การปฏิวัติมีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก)
 ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรม
  มีผลเกิดขึ้นแบ่งได้กว้างๆ  เป็น  ๒  ด้าน  คือ
                ๑.   ผลต่อสถานการณ์ภายในประเทศ
                ๒.  ผลต่อสถานการณ์ภายนอกประเทศ
                ๑.   ผลต่อสถานการณ์ภายในประเทศ   การปฏิวัติวัฒนธรรมที่มีจุดเริ่มต้นจากความขัดแย้งของกลุ่มผู้นำ  ได้ก่อให้เกิดการโจมตีและกำจัดผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ  ตลอดจนการทำลายความสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์  ซึ่งเป็นศูนย์กลางรวมอำนาจทางการเมืองของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างกว้างขวาง  ยิ่งกว่านั้น  ยังได้ก่อให้เกิดขบวนการรวมตัวของประชาชนที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทุกด้านในประเทศ  เพื่อให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีระบบสังคมใหม่ที่เป็นระบอบสังคมนิยมที่ถูกต้อง  ซึ่งมีเหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง
พระราชวังต้องห้าม กู้กง
                ๒.  ผลต่อสถานการณ์ภายนอกประเทศ       ในระดับความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจในกรณีของสหภาพโซเวียต  สาธารณรัฐประชาชนจีน  มีนโยบายต่อต้านสหภาพโซเวียตอย่างเด่นชัดมาก  ในสมัยการปฏิวัติวัฒนธรรมพวกเยาวชนเรดการ์ดได้โจมตีสหภาพโซเวียตว่าเป็นพวกลัทธิแก้  และเป็นนักสังคมนิยมที่ขยายอำนาจโดยมุ่งขยายดินแดน  เช่น  การที่สหภาพโซเวียตเข้ายึดครองเชโกสโลวะเกีย  ในด้านความสัมพันธ์กับประเทศด้อยพัฒนานั้น  สาธารณรัฐประชาชนจีนในระยะการปฏิวัติวัฒนธรรม  มีนโยบายเด่นชัดที่สนับสนุนขบวนการต่อสู้ด้วยอาวุธในประเทศด้อยพัฒนา  ตามความคิดเกี่ยวกับการปฏิวัติของเหมาเจ๋อตง  ที่ต้องใช้วิธีการรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงสังคม  การต่อสู้ในแบบสงครามกองโจรจึงเกิดขึ้นในบางประเทศ  เช่น  การสนับสนุนเวียดนามเหนือทำสงครามกองโจรในเวียดนามใต้  ใน  ค.ศ. ๑๙๖๘  และการสนับสนุนให้กลุ่มคนผู้นิยมคอมมิวนิสต์จีนในพม่าล้มรัฐบาลนายพลเนวินเพื่อให้พรรคอมมิวนิสต์พม่าขึ้นมีอำนาจแทน  การสนับสนุนกองกำลังเขมรแดงในกัมพูชาซึ่งมีพอลพตเป็นผู้นำล้มรัฐบาลของเจ้านโรดมสีหนุและในกรณีประเทศไทย  สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ให้การสนับสนุนแก่ขบวนการปฏิวัติในประเทศไทย  ที่เรียกตัวเองว่า  พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  เป็นต้น
....................................................................................................................................................................
คำถามท้ายบท เรื่อง การปฏิวัติวัฒนธรรม  (Cultural Revolution)  ในสาธารณรัฐประชาชนจีน
1. ลัทธิแก้  หมายถึง.........................................
2.สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงสนับสนุนการปฏิวัติในประเทศแถบใดบ้างโดยวิธีการใด
3.ปัญญาชนจำนวนมากของสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมือง  ได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการที่ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้ปัญญาชนได้แสดงความคิดเห็นโดยกว้างขวาได้แก่ขบวนการใดบ้าง มีจุดมุ่งหมายอย่างไร
4. จุดมุ่งหมายในการปฏิวัติวัฒนธรรมได้แก่อะไรบ้าง
5. จีนใช้เวลาในการปฏิวัติวัฒนธรรม กี่ปี จากปี คศ.ใดถึงปี คศ.ใด
6.กลุ่มสี่คน ประกอบด้วยใครบ้าง แต่ละคนมีตำแหน่งใด  ตั้งขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ใด
7.ขบวนการเรดการ์ด  หมายถึงคนกลุ่มใด มีวิธีการทำงานอย่างไร มีจุดมุ่งหมายใด
8.ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนภายในประเทศเป็นอย่างไรอธิบาย
9.ผลของการปฏิวัติวัฒนธรรมของจีนภายนอกประเทศเป็นอย่างไรอธิบาย

ประเทศจีนหลังสงครามกลางเมือง


ใบความรู้ เรื่อง ประเทศจีนหลังสงครามกลางเมือง
 ประเทศจีนหลังสงครามกลางเมือง
                สภาพการณ์ของจีนหลังสงครามกลางเมือง  มีแนวทางการปรับปรุงประเทศใน  ๒  ด้าน  คือ
๑.       ระบอบการปกครองภายในของจีน
๒.     การกำหนดนโยบายต่างประเทศ
                ระบอบการปกครองภายในของจีน  ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์  ซึ่งพยายามเสริมสร้างความมั่นคงทางการเมือง  ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ  และความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม  พิจารณาตามลำดับได้  ดังนี้
                ๑.  ด้านความมั่นคงทางการเมือง  สาธารณรัฐประชาชนจีนได้จัดรูปแบบการบริหารประเทศเสียใหม่ซึ่งระบอบการปกครองใหม่นี้  เรียกว่า  ระบอบเผด็จการประชาธิปไตยของประชาชน (People’s Democratic Dictatorship)  หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ  ก็คือ
                        (๑)  อำนาจรัฐเป็นของประชาชน  ประชาชนใช้อำนาจนี้โดยผ่านสภาประชาชนแห่งชาติและสภาประชาชนในระดับท้องถิ่น
                        (๒)  ประชาชนทุกเชื้อชาติในประเทศ  (ส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่นหรือชาวจีนแท้และชนกลุ่มน้อยอีกประมาร  ๕๕  กลุ่ม  เช่น  มองโกเลียน  ทิเบต  แมนจู  เย้า  อุยกุย  เป็นต้น)  มีความเสมอภาค  และมีเสรีภาพในการใช้ภาษาพูด  ภาษาเขียนของตนเอง
                        (๓)  ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา  หรือไม่นับถือศาสนา
ตามรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดแบ่งอำนาจการปกครองเป็น  ๔  ด้าน  คือ
                        (๑)  สภารัฐบาลกลางของประชาชน  ประกอบด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร  และฝ่ายตุลาการ
                        (๒)  สภาบริหารรัฐบาล  ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการพรรคเป็นคณะที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ
                        (๓)  สภาทหารปฏิวัติมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธาน  และมีรองประธาน  ๗  คน  ทำหน้าที่ควบคุมการทหารทั้งหมด
                        (๔)  หน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย  ได้แก่  ศาลสูงสุด  และสำนักงานอัยการ (Procurator General’s Office)
                อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้สาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีรัฐสภาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ  แต่ก็ไม่นิยมการออกฎหมาย  ส่วนใหญ่ใช้วิธีการกำหนดออกมาเป็นนโยบายแล้วมีคำสั่งควบคู่กันไป  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  จะต้องสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา  ถ้ามีการออกเป็นกฎหมายแล้วจะทำให้เปลี่ยนแปลงยาก  นอกจากนี้  ชาวจีนเองไม่ชอบการใช้วิธีการออกกฎหมายควบคุม  แต่จะใช้วิธีการสอนให้คนรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกเหมือนกับคำสั่งสอนของขงจื๊อ  จึงไม่นิยมบังคับให้คนทำอะไรเพราะความกลัวกฎหมาย  เมื่อเปลี่ยนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์  ความคิดนี้ก็ยังคงมีอยู่ทำให้กฎหมายที่ออกมาใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุคนั้นมีน้อยฉบับ  และกฎหมายที่ออกมาก็มีจุดประสงค์เพื่อจะชักชวนให้มีการกระทำบางประการเกิดขึ้นในรูปของการรณรงค์ของมวลชน
                ๒.  ด้านการปรับปรุงเศรษฐกิจ  มีการดำเนินการที่สำคัญ  คือ
                        ๒.๑  การปฏิรูปที่ดิน   รัฐบาลออกกฎหมายปฏิรูปที่ดิน (Land Reform Law)  เมื่อวันที่  ๒๘  มิถุนายน  ค.ศ. ๑๙๕๐  โดยนำที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ๆ  ไปแจกจ่ายให้แก่ชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกินประมาณ  ๓๐๐  ล้านคน  ด้วยการจัดแบ่งที่ดินให้ประชาชนเท่าๆ  กันครอบครอง  ๓ใน 4    ไร่  เพื่อใช้ในการเกษตร    แต่ต่อมารัฐบาลเห็นว่าการแบ่งที่ดินเป็นแปลงเล็กๆ  นั้นไม่สามารถจะปรับปรุงให้ทันสมัยโดยใช้เครื่องจักรทำนาได้จึงให้มีการรวมนาเข้าด้วยกันเป็นผืนใหญ่  เรียกว่า  การทำนารวม (Collective Farm)  มีรูปแบบดังนี้  คือ
                        -  จัดตั้งองค์การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันและกัน
                        -  ร่วมมือในระหว่างผู้ผลิต  ด้วยการนำที่ดิน  เครื่องมือในการผลิต  และแรงงานมารวมกัน  โดยถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของส่วนกลางร่วมกัน
                        -  ผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนก็จะตกอยู่แก่ส่วนรวม  ไม่ใช่ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของหุ้นส่วนใดๆ
                        ผลก็คือ  ชาวนาจำนวนมากได้เข้าร่วมในระบบทำนาแบบนี้  ทำให้ผลิตผลการเกษตรของสาธารณรัฐประชาชนชนจีนเพิ่มขึ้น  ปรากฏว่าผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ  ๔.๕  ต่อปี  ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถบรรเทาความอดอยากอันเนื่องมาจากประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้
                        ๒.๒  การใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ  โดยกำหนดเป็นแผนพัฒนา  ๕  ปี  ๓  ระยะ  เริ่มตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๕๓  และจะสิ้นสุดตามโครงการใน  ค.ศ. ๑๙๖๗  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๓  รัฐบาลจึงประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ  ๕  ปีแรก  (ค.ศ. ๑๙๕๓ - ๑๙๕๗)  แผนพัฒนาฉบับแรกนี้ไม่ได้กำหนดรายละเอียดตามโครงการชัดเจน  เพราะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตอย่างมาก  เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนขาดแคลนเงินทุนและช่างเทคนิค  ตามแผนการระยะแรก  สหภาพโซเวียตได้ให้ความช่วยเหลือหลายอย่างทางด้าน  ผลจากการดำเนินการตามแผนพัฒนา  ค.ศ. ๑๙๕๓ - ๑๙๕๗  ปรากฏว่าผลิตผลทางด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ  ๑๘  ต่อปี  และผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ  ๔.๕  แต่การเพิ่มของผลผลิตก็ไม่สมดุลกับอัตราการเพิ่มของพลเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว  คือ  ระหว่าง  ค.ศ. ๑๙๕๓ - ๑๙๕๗  เพิ่มขึ้นถึงปีละ  ๑๒  ล้านคน  ทำให้ผลผลิตส่วนใหญ่ต้องนำไปใช้ในการเลี้ยงพลเมืองจีน
                        ๒.๓  การก้าวกระโดดไกล (Great Leap Forward  ค.ศ. ๑๙๕๗-๑๙๖๐)    การเร่งการผลิตครั้งใหญ่ด้วยวิธีการก้าวกระโดดไกล  ก็คือ  การเรียกร้องให้ประชาชนได้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อจะได้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง  ตามโครงการนี้มีขั้นตอน  คือ
                        (๑)  การระดมมวลชน  (Mass Mobilization)  ประกอบด้วย
                                -  การระดมแรงงานในชนบทให้มากที่สุด  เพื่อทำการสร้างอุปกรณ์และปัจจัยพื้นฐานทางการเกษตร  ได้แก่  การสร้างการชลประทาน  การป้องกันน้ำท่วม  และการปรับปรุงที่ดิน
                                -  จะต้องเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในที่ดินแต่ละแห่งให้มากขึ้น  โดยใช้แรงงานคนเป็นหลัก
                                -  หาทางขยายอุตสาหกรรมเล็กๆ  หรืออุตสาหกรรมพื้นบ้านในท้องถิ่นโดยใช้วัสดุและเครื่องมือง่ายๆ  เพื่อผลิตสินค้าสำหรับการบริโภคและผลิตเครื่องมือสำหรับการเกษตร  ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และประเภทใหม่ๆ  มุ่งผลิตสินค้าส่งไปขายต่างประเทศเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศมาใช้ในการเกษตร
                        การเร่งระดมการผลิตได้กระทำทั้งกลางวันและกลางคืน  ชาวจีนนับล้านๆ  คนต่างทำงานในไร่นาตลอดกลางวันและทำงานโรงงานเวลากลางคืน  จึงนับว่าชาวจีนต้องใช้แรงงานอย่างหนักในช่วงระยะนี้
                        (๒)  การจัดตั้งระบบคอมมูน  (Commune)  โครงการคอมมูนเป็นอีกส่วนหนึ่งของโครงการก้าวกระโดดไกล  โดยมีจุดประสงค์  คือ
                                -  เพื่อจัดระบบการปกครองพื้นฐานให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพเพราะถือว่า  เมื่อพื้นฐานหรือรากฐานแข็งแรงแล้วโครงสร้างทั้งหมดก็จะอยู่ได้  คอมมูนจึงมีลักษณะเหมือนรัฐบาลบริหารรับผิดชอบงานท้องถิ่น  ประกอบด้วย  งานทางด้านทหาร  ความปลอดภัย  การค้า  การคลัง  การเก็บภาษี  การบัญชี  สถิติ  และการวางแผน  ทุกๆ  คนในคอมมูนจะทำงาน  ๒๔  วันใน  ๑  เดือน  ทั้งชายและหญิง  มีศูนย์กลางของคอมมูนรับเลี้ยงดูแลเด็ก  การบริหารในคอมมูนจึงมีลักษณะเป็นการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด  จำนวนครอบครัวในคอมมูนหนึ่งมีอยู่ประมาณ  ๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐  พันครอบครัว  รวมประชากร  ๒๐,๐๐๐  คน
                                -  เพื่อให้มีการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ  จึงให้มีการผลิตขั้นพื้นฐานหน่วยละ  ๔๐  ครอบครัว  โดยที่แต่ละหน่วยการผลิตมีอิสระในการตัดสินใจเต็มที่  นอกจากนี้ยังยินยอมให้ชาวไร่ชาวนามีที่ดินขนาดเล็กเป็นของตนเอง  เพื่อผ่อนคลายความกดดันทางจิตใจของประชาชนที่ไม่มีสิทธิจะทำการผลิตเล็กๆ  น้อยๆ  ของตนเองมาก่อนในระยะก่อนหน้านี้
                        (๓)  การพัฒนาเศรษฐกิจการค้ากับต่างประเทศ  หลังจากใช้นโยบายก้าวกระโดดไกล  สาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น  และยังสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศด้อยพัฒนาอีกด้วย  จากการที่สินค้าของสาธารณรัฐประชาชนจีนส่วนมากราคาถูก  เนื่องจากค่าแรงต่ำเพราะกิจการทุกอย่างรัฐเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด  จึงทำให้สามารถครองตลาดในฮ่องกงและในเอเชียอาคเนย์ได้  อย่างไรก็ตาม  นโยบายก้าวกระโดดไกลทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีข้อบกพร่องที่นำไปสู่ปัญหาสำคัญ  นั่นก็คือ  การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ในขอบเขตและปริมาณที่จำกัด  ทั้งนี้เพราะมุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม  รวมทั้งการใช้แรงงานคน  แต่ละทิ้งการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและการวางแผนระยะยาวจากส่วนกลางอย่างจริงจัง
                ๓.  ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  การสร้างจิตสำนึกแบบสังคมนิยมให้แก่ประชาชน  โดยกำหนดแนวทางดังนี้
                        (ก)  มุ่งให้ประชาชยอมรับและเข้าใจในระบอบการปกครอง  แนวทางทางการเมืองที่ใช้อยู่  โดยให้รู้ถึงขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์
                        (ข)  สร้างจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักถึงความเหนือกว่าของระบอบสังคมนิยม  และความเลวร้ายของระบอบทุนนิยม
                        (ค)  จัดระบอบการศึกษาให้กระจายออกไปอย่างทั่วถึงยังบริเวณโรงงาน  เหมืองแร่  และไร่นา  โดยเป็นการให้การศึกษาหลังชั่วโมงการทำงาน  เพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือ  และเสริมความรู้พื้นฐานสำหรับการผลิต  อันจะทำให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้มากขึ้นและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
                        (ง)  เปิดโอกาสให้กับลูกหลานกรรมกรชาวนา  ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยละ  ๕๐  ของนักศึกษาทั้งหมดได้เข้าเรียนหนังสือโดยรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน  ในขณะเดียวกัน  นักศึกษาปัญญาชนก็ต้องได้รับการฝึกให้ใช้แรงงานที่นับเป็นขั้นตอนสำคัญของการสร้างสังคมในระบอบใหม่
                การกำหนดนโยบายต่างประเทศ  ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน  มีสาเหตุหลายประการที่เป็นปัจจัยในการกำหนดแนวทางความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  คือ
                        ก.  ประสบการณ์ในอดีตที่ถูกต่างชาติเอารัดเอาเปรียบ  ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ    ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องดำเนินนโยบายที่จะต้องเลือกประเทศที่มีแนวโน้มจะเป็นมิตรกับตนอย่างแท้จริง
                        ข.  ความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูประเทศหลังสงครามกลางเมือง  ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการมีความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่อาจให้ความช่วยเหลือตนได้  ใน  ค.ศ. ๑๙๔๙  สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากธรรมชาติอย่างรุนแรง  ได้แก่  น้ำท่วม  ความแห้งแล้ง  ไต้ฝุ่น  พายุลูกเห็บ  แมลงศัตรูพืช  และโรคระบาดในสัตว์ประเภทโค  กระบือ  ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันมาตลอดฤดูใบไม้ผลิ  ฤดูร้อน  และฤดูใบไม้ร่วง  ที่ประมาณความเสียหายได้ว่าประชาชนจีนจำนวน  ๔๐  ล้านคน  ตกอยู่ในภาวะความเดือดร้อนในระดับต่างๆ  กัน  และภัยพิบัติเหล่านี้ทำให้จำนวนผลิตผลประเภทอาหารของชาติต้องลดลงอย่างมาก  สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงต้องหามิตรประเทศอันอาจเป็นแหล่งที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้
                        ค.  สาธารณรัฐประชาชนจีนดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะใกล้ชิดสนิทสนมกับประเทศต่างๆ  ที่ให้การรับรองรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของตน  ผลจากการที่นานาชาติรับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์  เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สามารถยึดแผ่นดินใหญ่ได้ทั้งประเทศ  รัฐบาลสหภาพโซเวียตจึงประกาศรับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ทันที  และกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ  ก็ประกาศรับรองเช่นเดียวกัน     ส่วนประเทศอื่นที่ได้ให้การรับรองก็มี  อินเดีย  และพม่า  รับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ปลาย  ค.ศ. ๑๙๔๙  ส่วนชาติอื่นที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อมาคืออัฟกานิสถาน  ศรีลังกา  เดนมาร์ก  ฟินแลนด์  อิสราเอล  อินโดนีเซีย  เนเธอร์แลนด์  นอรเว  ปากีสถาน  สวีเดน  และสวิตเซอร์แลนด์  ส่วนมหาอำนาจตะวันตกประเทศแรกที่รับรองจีนคอมมิวนิสต์  คือ  อังกฤษ  เพราะอังกฤษต้องการที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของตนทีมีอยู่มากมายในสาธารณรัฐประชาชนจีน  รวมทั้งฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษด้วย  ตลอดจนต้องการความสะดวกในการค้าขายกับจีนคอมมิวนิสต์ 
เด็กๆในคอมมูนยืนคอยต้อนรับประธานเหมา
                        ง.  สาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบายจะผนวกเกาะไต้หวัน  ซึ่งพรรคก๊กมินตั่งได้หลบหนีถอยร่นไปตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนอยู่ที่นั่น  เมื่อสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงใน  ค.ศ. ๑๙๔๙  แล้ว  พรรคก๊กมินตั่งยังได้ทิ้งกำลังทหารของตนไว้ทางตะวันตกของจีนแผ่นดินใหญ่  คือ  ซินเกียงและทางตอนใต้คือเกาะไฮนาน  (ไหหลำ)  แต่กำลังฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ได้โจมตีเกาะไฮนานและยึดได้สำเร็จในเดือนเมษายน  ค.ศ. ๑๙๕๐  หลังจากการพ่ายแพ้ในครั้งนี้แล้ว  เจียงไคเช็คได้ประกาศว่าจะส่งกองทัพบุกขึ้นแผ่นดินใหญ่ภายใน  ๒  ปี  แต่เจียงไคเช็คไม่สามารถทำได้  ในขณะเดียวกัน  จีนคอมมิวนิสต์ก็มีนโยบายที่จะใช้กำลังโจมตีเกาะไต้หวันเพื่อผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน  แต่มิอาจทำตามนโยบายนี้ได้  เพราะมีกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาให้ความคุ้มกันอยู่
คำอธิบายศัพท์
                คอมมูน  คือ  องค์การเอนกประสงค์ซึ่งรวมหน่วยการเมือง  การปกครอง  และการบริหารทั้งหมดเข้าด้วยกัน  ทำหน้าที่ดูแลการดำเนินการทุกอย่างเพื่อการอยู่ร่วมกันของประชาชนในชุมชน  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  การเมือง  การทหาร  การศึกษา  วัฒนธรรม  และสาธารณสุข  และยังมีธนาคาร  โรงเรียน  โรงพยาบาล  ร้านค้า  ศาลาประชาชน  และหน่วยฝึกทหารอีกด้วย  นอกจากนั้น  คอมมูนยังมีหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลกับสมาชิกของคอมมูนในด้านประสานนโยบาย  เผยแพร่และให้การศึกษาลัทธิการเมือง  ดูแลความสงบสุขของสมาชิก  ฝึกหัดการทหาร  และเก็บภาษีส่งให้รัฐบาล  เป้าหมายสำคัญก็เพื่อเน้นพัฒนาการเกษตร  ในอันที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างฐานะของเกษตรกรในชนบทกับกรรมการและมวลชนในเมือง
................................................................................................................................................................................................................
คำถามท้ายบท เรื่อง ประเทศจีนหลังสงครามกลางเมือง
1. หลังสงครามกลางเมือง ประเทศจีนมีการจัดการปกครองภายในประเทศอย่างไร อธิบาย
2. หลังสงครามกลางเมือง ประเทศจีนมีการกำหนดนโยบายต่างประเทศ อย่างไร อธิบาย

สงครามกลางเมืองในประเทศจีน


                                      ใบความรู้เรื่อง  สงครามกลางเมืองในประเทศจีน
สงครามกลางเมือง  ค.ศ. ๑๙๔๕ - ๑๙๔๙
                ตอนปลาย  ค.ศ. ๑๙๔๕  เมื่อสหรัฐอเมริกาพยายามเข้าไกล่เกลี่ยไม่ให้เกิดสงครามกลางเมืองไม่เป็นผลสำเร็จ  ต่อมาใน  ค.ศ. ๑๙๔๖  สงครามกลางเมืองเต็มรูปจึงเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายก๊กมินตั่งกับฝ่ายคอมมิวนิสต์  เป็นที่ปรากฏชัดว่า  ฐานะทางการเมืองระหว่างประเทศของรัฐบาลเจียงไคเช็คได้เปรียบกว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์  เนื่องจากมีที่นั่งในองค์การสหประชาชาติในฐานะเป็นสมาชิกประจำคณะมนตรีความมั่นคง  ซึ่งมีสิทธิลงคะแนนเสียงยับยั้ง  แต่ในการสงครามภายในโดยส่วนรวมแล้วก๊กมินตั่งตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ  ดังมีรายละเอียดของการต่อสู้ดังนี้
                ระยะแรก  การมีชัยของฝ่ายก๊กมินตั่ง  เนื่องจากฝ่ายก๊กมินตั่งมีกำลังเข้มแข็งกว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์มาก  คือ  มีจำนวนทหารทั้งสิ้นประมาณ  ๓  ล้านคน  ในขณะที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีเพียง  ๑  ล้านคน  และยังได้เปรียบที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาอีกมาก  ไม่ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์หรือการฝึกทหาร  ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๓๔  ถึงต้น  ค.ศ. ๑๙๔๘  เป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า  ๒,๐๐๐  ล้าน
                ระยะที่  ๒  การต่อต้านของฝ่ายคอมมิวนิสต์  ฝ่ายคอมมิวนิสต์พยายามกระจายกำลังออกไปทั่วภาคเหนือของจีนและแมนจูเรีย  สหภาพโซเวียตยังได้ให้อาวุธและอุปกรณ์ต่างๆ  แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์เป็นจำนวนมาก  โดยฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าควบคุมทางรถไฟจากภาคเหนือของจีนไปยังแมนจูเรีย  รวมทั้งทางรถไฟสายจี้หนาน - ซิงเตา (Tsinan-Tsingtao)  ในชานตุง  ทำให้กองทัพฝ่ายก๊กมินตั่งไม่สามารถส่งกำลังทางรถไฟได้
                ระยะที่  ๓  การต่อสู้ที่สำคัญของสงครามกลางเมือง  ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ทุ่มกำลังบุกเข้ายึดครองเมืองต่างๆ  ตั้งแต่เดือนเมษายน  ค.ศ. ๑๙๔๘  ฝ่ายก๊กมินตั๋งสูญเสียกำลังทหารทั้งบาดเจ็บล้มตายและสูญหายไปกว่า  ๓๐,๐๐๐  คน  อุปกรณ์ต่างๆ  ที่สหรัฐอเมริกาช่วยเหลือสูญเสียไปกว่าร้อยละ  ๘๕  ความพ่ายแพ้ของฝ่ายก๊กมินตั่งตามเมืองใหญ่ๆ  ทำให้เศรษฐกิจถูกทำลายและเกิดความแตกแยกทางการเมืองขึ้น
ชาวแมนจู
                ระยะที่  ๔  ความพ่ายแพ้ของฝ่ายก๊กมินตั่ง  เมื่อรัฐบาลฝ่ายก๊กมินตั่งได้ถอยร่นลงมาทางใต้  ต่อมาตอนต้น  ค.ศ. ๑๙๔๙  เจียงไคเช็คพิจารณาเห็นว่าสถานการณ์ในจีนสิ้นหวัง  จึงได้เรียกร้องให้คอมมิวนิสต์เปิดการเจรจากัน  และขอให้สหรัฐอเมริกา  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  และสหภาพโซเวียตบีบบังคับให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์เปิดการเจรจากับฝ่ายก๊กมินตั่งซึ่งฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้เรียกร้องให้กองทัพฝ่ายก๊กมินตั่งยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไข  และให้ส่งเจียงไคเช็คขึ้นพิจารณาโทษในฐานะอาชญากรสงคราม  เจียงไคเช็คจึงได้ลาออกจากตำแหน่งในวันที่  ๒๑  มกราคม  ค.ศ. ๑๙๔๙  และรองประธานาธิบดีหลีจุงเหลิน (Li Tsung Jen)  ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน  จนกระทั่งในที่สุด  เจียงไคเช็คและพวกได้อพยพไปตั้งรัฐบาลใหม่ที่เกาะฟอร์โมซาหรือไต้หวันในวันที่  ๘  ธันวาคม  ค.ศ. ๑๙๔๙  และต่อมาก็ได้ประกาศให้ไต้หวันเป็นประเทศสาธารณรัฐจีน               ฝ่ายคอมมิวนิสต์จึงได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดและครอบครองแผ่นดินใหญ่เป็นผลสำเร็จ  หลังจากได้ต่อสู้มาเป็นเวลานานเกือบ  ๒๐  ปี  และได้มีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น  ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์  เมื่อวันที่  ๑  ตุลาคม  ค.ศ. ๑๙๔๙  ตั้งชื่อประเทศว่า  สาธารณรัฐประชาชนจีน (The People’s Republic of China)  มีเหมาเจ๋อตง  เป็นผู้นำ  มีกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ให้การรับรอง  ๒๕  ประเทศ  ส่วนสหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์  และพร้อมกับขัดขวางมิให้จีนคอมมิวนิสต์เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ก. สถานการณ์ทั่วไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒

ก. สถานการณ์ทั่วไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ การปกครองของราชวงศ์แมนจูเสื่อมอำนาจลงอย่างเห็นได้ชัด ประเทศมหาอำนาจต่างๆ เข้ามากอบโกยผลประโยชน์และเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน โดยที่รัฐบาลจีนไม่สามารถจะป้องกันได้ ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนจึงไม่พอใจราชวงศ์แมนจู ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ดร.ซุนยัตเซน (Sun Yat Sen) ได้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์เพื่อเอกภาพชื่อ ตุงเม่งฮุย (Tung Meng Hui) ขึ้นใน


                                   ซุนยัดเซน หัวหน้าพรรคคณะชาติแห่งประเทศจีน
                                  ผู้นำการปฏิวัติล้มล้างอำนาจกษัตริย์ใน ค.ศ. ๑๙๑๑

ญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ชาวจีนโค่นล้มราชวงศ์แมนจูและก่อตั้งสาธารณรัฐจีน ดร.ซุนยัตเซนได้ออกหนังสือพิมพ์หมิน เป้า (Min Pao) เพื่อเผยแพร่แนวความคิดในหมู่นักศึกษาชาวจีนที่ศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕ - ๑๙๑๑ ดร.ซุนยัตเซนได้เดินทางไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาโดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนโพ้นทะเลเป็นอย่างดี ขณะที่ ดร.ซุนยัตเซนขยายแนวคิดปฏิวัติอยู่ในต่างประเทศนั้น สหพันธ์เพื่อเอกภาพได้ก่อการจลาจลต่อต้านราชวงศ์แมนจูขึ้นหลายครั้งในภาคใต้ของประเทศจีน แต่ก็ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งมีการลุกฮือขึ้นทำการปฏิวัติเป็นครั้งที่ ๑๐ ที่เมืองวูชาง (Wuchang) มนฑลเหอเป่ย (Hupeh) ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๑ จึงประสบผลสำเร็จ ขณะนั้น ดร.ซุนยัตเซนยังอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อได้รับทราบข่าวจึงรีบเดินทางกลับประเทศจีน และปีต่อมา ซุนยัตเซนได้ร่วมกับผู้มีแนวความคิดนิยมระบอบสาธารณรัฐก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นคือ พรรคก๊กมินตั่ง (Kuomintang) หลังจากนั้นก็ได้ติดต่อกับยวนซีไข (Yuan Shih K’ai) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้บัญชาการทางทหารของฝ่ายแมนจู ให้ใช้อำนาจทางทหารของตนบีบบังคับให้จักรพรรดิแห่งราชวงศ์แมนจูสละราชสมบัติ เหตุผลที่ยวนซีไขยอมทรยศต่อฝ่ายแมนจูก็เพราะเขาเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ประกอบกอบชาวจีนเสื่อมอำนาจลง และขณะนั้น ยวนซีไขเป็นผู้ที่อยู่ในฐานสามารถจะชี้ขายผลการต่อสู้ได้เพราะหากเขาตัดสินใจเข้าข้างฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมได้เปรียบทันที ดังนั้น เมื่อยวนซีไขมองเห็นลู่ทางที่ตนจะขึ้นมามีอำนาจเสียเอง จึงได้ฉวยโอกาสรับข้อเสนอของฝ่ายขบวนการปฏิวัติทันที
เมื่อกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์แมนจู คือ พระเจ้าชวนทังยอมสละราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๙๑๒ คณะปฏิวัติได้เลือกยวนซีไขให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่การที่ยวนซีไขมีความต้องการปกครองประเทศแบบเผด็จการ ทำให้ขัดแย้งกับคณะปฏิวัติที่มีอุดมการณ์จะให้ประเทศจีนมีการปกครองแบบรัฐสภา โดยมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ซุนยัตเซนซึ่งเป็นผู้นำคนสำคัญของคณะปฏิวัติและเคยเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีน จึงได้ทำการปฏิวัติครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ แต่ซุนยัตเซนเป็นฝ่ายแพ้หนีไปอยู่ญี่ปุ่น จึงเหลือแต่คณะพรรคก๊กมิตั่ง (พรรคคณะชาติ) ยวนซีไขจึงประกาศยุบรัฐสภาและยุบคณะพรรคก๊กมินตั่งด้วย แล้วรวมอำนาจการปกครองไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้อำนาจส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของฝ่ายบริหาร ความเข้มแข็งของยวนซีไขและความสามารถในการควบคุมกำลังทหารทำให้ประเทศมหาอำนาจในเวลานั้น คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาต่างก็ให้การสนับสนุนยวนซีไข จึงทำให้ฐานะของยวนซีไขมั่นคง
จีนได้พยายามที่จะปรับปรุงประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าตามแบบญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เพราะนับได้ว่าญี่ปุ่นอยู่ในฐานะเป็นมหาอำนาจในเอเชีย เห็นได้จากการที่ญี่ปุ่นมีชัยในสงครามรุสเซีย - ญี่ปุ่น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔ - ๑๙๐๕ แต่ความพยายามของจีนก็ไม่ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๑ หลังจากปฏิวัติสถานการณ์ภายในของจีนก็ยิ่งเลวร้ายลงด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
(๑) สถานการณ์ภายในจีนเองไม่มีความมั่นคง เนื่องจากความแตกแยกมีมากในระดับผู้บริหารของจีน เช่น การขัดแย้งทางความคิดในการปกครองระหว่างยวนซีไขและซุนยัตเซน เป็นต้น
(๒) ทางเศรษฐกิจได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ จีนต้องปรับปรุงประเทศมาก ทำให้จีนต้องกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อมาใช้ในการนี้ จึงเกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจและเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น
(๓) สถานการณ์นอกประเทศไม่มีผลดีต่อจีน เพราะเสถียรภาพของจีนถูกคุกคามโดยทุกประเทศที่เข้ามาติดต่อเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นซึ่งต้องการที่จะมีอิทธิพลเด็ดขาดในแมนจูเรีย
ฐานะของจีนเริ่มดีขึ้นเมื่อจีนเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้จีนได้รับผลตอบแทนบ้างเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยในสงคราม เช่น ได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตคืนมาจากประเทศที่แพ้สงคราม ได้เขตสัมปทานคืนจากเยอรมนีและประเทศสัมพันธมิตร ได้ยึดเวลาชำระค่าปรับที่มีผลมาจากกบฏนักมวย* ออกไปอีก ๕ ปี ที่มากกว่านั้นก็คือ สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาช่วยเหลือจีนมากขึ้น ในฐานะที่สหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้รับรองเอกราชและเสถียรภาพของจีนตั้งแต่ต้นตามนโยบาย “เปิดประตู” ใน ค.ศ. ๑๘๙๙** สหรัฐอเมริกาได้จัดการประชุม ๙ ประเทศขึ้นที่กรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๑ - กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๒ ที่ประชุมประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม ฮอลแลนด์ จีน ญี่ปุ่น และโปรตุเกส เพื่อลดกำลังอาวุธ และพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับตะวันออก ผลการประชุมปรากฏว่า ประเทศที่เข้าประชุมก็รับว่าจะเคารพเอกราชอธิปไตยและการปกครองภายในของจีน และให้จีนเป็นประเทศเปิดตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการ การตกลงครั้งนี้ทำให้ฐานะของจีนดีขึ้น เพราะญี่ปุ่นยอมคืนแหลมชานตุง และอังกฤษยอมคืนเวไฮเว่ให้แก่จีน
*กบฏนักมวยเกิดใน ค.ศ. ๑๙๐๐ มีอุดมการณ์ที่จะกวาดล้างชาวต่างชาติให้หมดสิ้นไป ได้มีการปล้น เผาบ้านเรือนของชาวคริสเตียน และเข้ายึดสถานที่ทำการของชาวต่างชาติ แต่ในที่สุดกองทัพของชาวต่างชาติก็ได้ทำลายกำลังของนักมวยลง กบฏครั้งนี้แสดงถึงความรู้สึกชาตินิยมของจีน แต่ผลจากการพ่ายแพ้ทำให้จีนต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก (พร้อมทั้งดอกเบี้ยในระยะเวลา ๓๙ ปี คิดเป็นจำนวนทั้งหมดเกือบ ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์) และยอมให้กองทหารต่างชาติมาอยู่ในจีน นอกจากนั้นจีนยังต้องลงโทษผู้กระทำผิดกับทั้งต้องยอมยกดินแดนบางส่วนให้สหภาพโซเวียต เพื่อแลกกับการที่สหภาพโซเวียตต้องถอนทหารออกจากทางเหนือของจีน
**จุดประสงค์นโยบาย “เปิดประตู” ของสหรัฐอเมริกา ก็คือ การที่สหรัฐอเมริกาต้องการที่จะเปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันระหว่างนานาชาติในการติดต่อกับจีน โดยมีหลักการว่า
(๑) จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของจีนในเขตเช่านั้นๆ
(๒) จะไม่ขัดขวางการเก็บภาษีศุลกากรของจีน
(๓) จะไม่ตั้งอัตราค่าโดยสารรถไฟ หรือค่าธรรมเนียมท่าเรือ (แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้) ด้วยเหตุนี้ ก็เท่ากับว่าสหรัฐอเมริกาเข้ามาสร้างความยุติธรรมให้แก่จีนในการติดต่อกับต่างชาติ และบรรดาชาติยุโรปจะร่วมรักษาเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนจีนร่วม


เจียง ไคเช็ค ผู้นำก็กมินตั๋งต่อต้านซุนยัตเซน

แต่เมื่อฐานะระหว่างประเทศของจีนดีขึ้น สถานการณ์ภายในกลับเป็นอุปสรรคต่อจีนอีกเพราะมีความวุ่นวายที่ทำให้จีนไม่สามารถตั้งตัวได้เลย ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ยวนซีไข ถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๑๙๑๖ จีนตกอยู่ในยุคขุนศึกซึ่งแย่งชิงอำนาจกันเอง เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองภายในประเทศกินเวลาถึง ๓ ปี จนในที่สุด ซุนยัตเซนได้รวมกำลังตั้งพรรคก๊กมินตั่งขึ้นอีกที่เมืองกวางตุ้ง เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จีนจึงแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ จีนเหนือและจีนใต้ จีนใต้ซึ่งมีซุนยัตเซนเป็นผู้นำ มีนโยบายขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตในการปรับปรุงประเทศ และได้รับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาในพรรคก๊กมินตั่งใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ซุนยัตเซนปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรวมประเทศ จึงได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อเจรจาที่จะรวมจีนให้มีเอกภาพ แต่ซุนยัตเซนเริ่มป่วยหนัก และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ เจียงไคเช็ค (Chiang Kai Shek) ซึ่งได้รับการศึกษาจากญี่ปุ่นได้เป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั่งคนต่อมา เขาได้พยายามปราบจีนทางเหนือ และเมื่อตีปักกิ่งได้ ก็ได้สถาปนาเมืองหลวงไปอยู่ที่นานกิงใน ค.ศ. ๑๙๒๘ แต่เจียงไคเช็คก็ยังเผชิญกับความแตกแยกภายใน อันเนื่องมาจากการเริ่มมีอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และปัญหาภายนอกอันเนื่องมาจากการคุกคามของญี่ปุ่นเป็นสำคัญ