วันอาทิตย์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2555

ประเทศญี่ปุ่นหลังการยึดครอง (ค.ศ. ๑๙๕๒ - ๑๙๖๐) ตอนที่ 1


ประเทศญี่ปุ่นหลังการยึดครอง  (ค.ศ. ๑๙๕๒ - ๑๙๖๐)

                ถึงแม้สหรัฐอเมริกาจะควบคุมญี่ปุ่นมากดังกล่าวมาแล้วในบทที่  ๔  ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ยึดครองและญี่ปุ่นเป็นผู้ถูกยึดครองก็เป็นไปด้วยดี  ทั้งนี้ด้วยเหตุผลสำคัญ  ๖  ประการ  คือ
                (๑)  สหรัฐอเมริกาต้องการฟื้นฟูญี่ปุ่นอย่างเต็มที่  โดยมุ่งให้ญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านระบบเศรษฐกิจ  และการจัดรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
                (๒)  สหรัฐอเมริกายอมรับความจริงของฝ่ายญี่ปุ่น  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐอเมริกาในเรื่องที่ว่า  สันติภาพจะมีได้ก็โดยการที่สหรัฐอเมริกาจะต้องสนับสนุนให้ญี่ปุ่นเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแต่เพียงประการเดียว  โดยเลิกล้มบทบาททางด้านการทหารอย่างเด็ดขาดและจะต้องมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาต่อไป
                (๓)  นโยบายปรับปรุงประเทศญี่ปุ่นในทุกๆ  ด้านยกเว้นกิจการด้านการทหารได้ช่วยปรับแก้ทัศนะที่ชาติต่างๆ  มีต่อญี่ปุ่นว่าญี่ปุ่นเป็นชาติรุกราน  อันเนื่องมาจากเคยมุ่งสร้างกองทัพให้ยิ่งใหญ่เพื่อขยายอำนาจ
                (๔)  ญี่ปุ่นพอใจกับนโยบายการยึดครองญี่ปุ่นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนดขึ้น  อันมีหลักการว่า  การยึดครองญี่ปุ่นเพื่อเป็นการล้างแค้นย่อมก่อให้เกิดความเกลียดชัง  และความไม่สงบขึ้น  เพราะฉะนั้นนโยบายยึดครองจึงมุ่งจะปฏิรูปญี่ปุ่นให้เปลี่ยนบทบาทจากผู้ทำลายสันติภาพมาเป็นผู้สร้างสันติภาพ
                (๕)  ลักษณะเฉพาะของคนญี่ปุ่น  มีลักษณะที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงได้ง่าย  และยอมปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่า  ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่คนญี่ปุ่นได้เคยอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการมาเป็นเวลาถึง  ๑๕  ปี  ก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่  ๒  ยิ่งกว่านั้น  ยังมีธรรมเนียมสั่งสอนกันมาตลอดให้เชื่อฟังผู้ใหญ่  การยอมรับความคิดเห็นของผู้มีอำนาจจึงเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นให้การยอมรับทำให้การปกครองของสหรัฐอเมริกาในนามของสัมพันธมิตรเป็นไปโดยราบรื่น  ในอีกด้านหนึ่งชาวญี่ปุ่นได้รู้จักชาวอเมริกันเป็นอย่างดี  นับแต่ญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายเปิดประเทศในสมัยเมจิ  เหตุนี้  อิทธิพลของสหรัฐอเมริกาจึงมีอยู่ในญี่ปุ่นมาเป็นเวลานานแล้ว  ความสนิทสนมระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวอเมริกันจึงคงดำรงอยู่  ทำให้การเข้ามายึดครองของสหรัฐอเมริกาเป็นที่ยอมรับ
                (๖)  ในระยะการยึดครอง  แม้ญี่ปุ่นจะเสียผลประโยชน์บางอย่างและอำนาจอธิปไตยไปบ้าง  ญี่ปุ่นก็ยอมเมื่อเทียบกับความช่วยเหลือที่ได้จากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีมากกว่า  เช่น  ในระหว่าง               ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๒  สหรัฐอเมริกาได้ช่วยเหลือญี่ปุ่นเป็นเงินถึง  ๑,๘๐๐  ล้านดอลลาร์  โดยที่สหรัฐอเมริกาต้องการฟื้นฟูประเทศญี่ปุ่น  เพื่อให้เป็นแนวปราการป้องกันการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์  ที่กำลังคุกคามสันติภาพของโลก  เช่น  สงครามเกาหลี
                ดังนั้น  ตลอดระยะเวลาของการยึดครองจึงไม่มีการต่อต้าน  ที่จะเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงประเทศญี่ปุ่นให้กลับคืนสู่สภาพปกติเกิดขึ้น  การยึดครองได้ยุติลงอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา  เมื่อมีการตกลงทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเสรีต่างๆ  ณ  เมืองแซนแฟรนซิสโก  ในวันที่  ๒๘  เมษายน  ค.ศ. ๑๙๕๒  ทำให้ญี่ปุ่นได้รับอิสรภาพ  มีฐานะเป็นประเทศเอกราช
                เมื่อญี่ปุ่นเป็นเอกราชโดยสมบูรณ์  ปรากฏว่ามีปัญหาที่จะต้องปรับปรุงประเทศให้คืนสู่สภาพปกติหลายด้าน  ดังนี้คือ 
ก.  การปรับปรุงทางด้านการเมือง
                อุดมการณ์ทางการเมืองของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่  ๒  เป็นต้นมา  มี  ๒  แนวทาง  คือ  อนุรักษ์นิยมและสังคมนิยม  พรรคการเมืองที่มีผู้สนับสนุนมากในแนวอนุรักษ์นิยม  คือ  พรรคเสรีประชาธิปไตย  (Liberal Democratic Party)  รองลงมา  คือ  พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย  (Democratic Socialist Party)  ส่วนทางด้านสังคมนิยม  คือ  พรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น  (Japan Socialist Party)  และรองลงมา  คือ  พรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น  (Japan Communist Party)  แต่ละพรรคต่างมีนโยบายหลักมุ่งหาเสียงสนับสนุนจากประชาชน  นโยบายจึงออกมาในลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก  โดยมุ่งช่วยเหลือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆ  เพราะฉะนั้น  การที่พรรคใดได้รับการสนับสนุนมากหรือน้อยจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละพรรค  แต่ขึ้นอยู่กับความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่  ที่ประชาชนให้ความนิยมและไว้วางใจมากกว่า  ดังนั้นพรรคที่ได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลมาตลอดจึงได้แก่  พรรคเสรีประชาธิปไตย  ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ  ซึ่งประชาชนให้ความสนับสนุนน้อยลงตามลำดับ  ได้แก่  พรรคสังคมนิยม  พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย  และพรรคโคเม  (Komei Party)  ซึ่งมีนโยบายเดินสายกลางไม่เป็นอนุรักษ์นิยมจนเกินไป  และพรรคคอมมิวนิสต์
                แต่หลังจากญี่ปุ่นได้เอกราชสมบูรณ์แล้ว  ความนิยมของญี่ปุ่นที่มีต่อนโยบายอนุรักษ์นิยมเปลี่ยนแปลงไป  โดยเฉพาะเสียงสนับสนุนพรรคเสรีประชาธิปไตยในเมืองมีน้อยลง  เมื่อเทียบจำนวนกับเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่  ๒  ใหม่ๆ  ทั้งนี้เนื่องจากเหตุผล  ๓  ประการ  คือ
                ๑.  คนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่ออายุครบ  ๒๐  ปี  เป็นพวกที่มีการศึกษากว้างขวางและทันสมัย  โดยเฉพาะให้ความสนใจกับแนวความคิดทางการเมืองใหม่ๆ  เช่น  ระบอบคอมมิวนิสต์  เป็นต้น  เป็นผลให้พวกนี้หันมาให้ความนิยมในอุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายซ้ายหรือสังคมนิยม  เพราะฉะนั้นจำนวนคนที่สนับสนุนในพรรครัฐบาลหรืออนุรักษ์นิยมจึงมีน้อยลง
                ๒.  ผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามเมืองใหญ่มีปริมาณน้อยลงนับตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๕๘  เป็นต้นมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่เป็นชาย  ทั้งนี้เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามเมืองใหญ่  ทำให้ไม่มีเวลาที่จะไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งเพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการประกอบอาชีพซึ่งมีความสำคัญกว่า
                ๓.  ประชาชนที่อยู่ในเมืองใหญ่ให้การสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายมากขึ้น  เช่น  พรรคสังคมนิยม  ได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากกลุ่มกรรมกร  เพราะญี่ปุ่นมีนโยบายเร่งด่วนทางด้านอุตสาหกรรมมาก  ทำให้มีแรงงานเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ  ที่เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม  เช่น  โตเกียว  โอซากา  เป็นต้น  พวกกรรมกรและผู้ใช้แรงงานซึ่งเรียกว่า  Blue Collar  จะให้การสนับสนุนจากพวก  White Collar  คือ  พวกที่มีการศึกษาหรือปัญญาชน  เช่น  นักวิชาการ  นักเขียน  นักศึกษา  และพนักงานชั้นผู้น้อย  ซึ่งคนเหล่านี้มีปัญหาเรื่องรายได้ไม่พอกับค่าครองชีพ  ทำให้ไม่พอใจต่อสภาพแวดล้อม  จึงสนับสนุนนโยบายสังคมนิยมที่มีนโยบายการกระจายรายได้และกระจายความมั่งคั่ง  ซึ่งจะช่วยให้สภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมญี่ปุ่นไม่มีความแตกต่างกันมากเกินไป
                อย่างไรก็ตาม  แม้จะได้รับความสนับสนุนจากประชาชนในเมืองน้อยลง  แต่ในชนบทยังคงได้รับความนิยมอยู่  ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมในนามของพรรคเสรีประชาธิปไตยได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่  ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ
                ๑)  ความมีชื่อเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้ง  การเลือกตั้งที่ผ่านมาจนถึงระยะหลังการยึดครอง  ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมีความโน้มเอียงจะเลือกตัวบุคคลมากกว่าที่เลือกพรรค  โดยเฉพาะจากลุ่มผู้มีอายุและกลุ่มชาวไร่ชาวนา  ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นที่รู้จักมักจะได้รับเลือกเสมอ  ไม่ว่าจะสังกัดอยู่พรรคการเมืองใดหรือมีนโยบายทางการเมืองแบบใดก็ตาม  การที่ตัวบุคคลมีความสำคัญกว่าอุดมการณ์ทางการเมือง  เพราะคนในชนบทมีแนวโน้มที่ยอมรับผู้ที่มีอำนาจหรืออิทธิพลในท้องถิ่นมากกว่านโยบายทางการเมือง  ซึ่งผู้ที่มีอิทธิพลส่วนมากก็มักจะเป็นคนท้องถิ่นซึ่งสนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์นิยมมาตลอด
                ๒)  ภูมิลำเนาของผู้สมัครรับเลือกตั้ง  คนญี่ปุ่นไม่ว่าสมัยใดค่อนข้างจะมีความผูกพันกับท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่มาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวชนบท  เพราะฉะนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากเขตหรือภูมิลำเนาของตน  โดยไม่ค่อยพิจารณาถึงหลักการอื่นๆ  และถึงแม้ว่าหลัง  ค.ศ. ๑๙๖๐  เป็นต้นมา  คนรุ่นหนุ่มสาวทั้งชายและหญิงซึ่งเข้ามาอยู่อาศัยและทำงานในเมืองไม่ต่ำกว่าปีละ  ๕๐๐,๐๐๐  คน  จะมีความรู้กว้างขวางขึ้นและมีหลักเกณฑ์ในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกต้องขึ้น  แต่คนหนุ่มสาวจำนวนนี้ก็ยังมีน้อยกว่าคนที่มีอายุ  ๓๐ - ๓๕  ปีขึ้นไป  พวกที่มีอายุมากในระดับนี้ในชนบทจะยังคงให้การสนับสนุนแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มาจากภูมิลำเนาของตน  ซึ่งส่วนมากเป็นผู้สมัครที่อยู่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยม
                ๓)  ส่วนใหญ่ของประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกว่าครึ่งอยู่ในชนบทที่มีอาชีพทางเกษตรกรรมและการประมงเป็นอาชีพหลัก  ซึ่งพวกนี้เป็นพวกหัวเก่าที่ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณี  จึงให้การสนับสนุนแก่พรรคเสรีประชาธิปไตยมาตลอด
                นอกจากการสนับสนุนจากประชาชนในชนบทช่วยให้พรรคเสรีประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาลปกครองญี่ปุ่นมาตลอดแล้ว  ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มอนุรักษ์นิยมยังทำให้ประชาชนทั่วไปพอใจอีกด้วย  โดยเฉพาะนับแต่  ค.ศ. ๑๙๕๕  เป็นต้นมา  เมื่อกลุ่มอนุรักษ์นิยมได้รวมตัวกันโดยใช้ชื่อว่าพรรคเสรีประชาธิปไตย  ทำให้สามารถเอาชนะจิตใจประชาชนเรื่อยมา  ในขณะที่กลุ่มผู้นำฝ่ายสังคมนิยมมักจะแตกแยกกันเอง
ข.  การปรับปรุงทางด้านเศรษฐกิจ
                การพัฒนาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๕๑  เป็นต้นมา  นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก  เนื่องจากสามารถปรับปรุงแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศจากความสูญเสียในระยะสงครามโลกให้กลับคืนสู่สภาพปกติในระยะเวลาอันรวดเร็ว  การดำเนินการแก้ไขสภาพเศรษฐกิจในช่วงนี้  ญี่ปุ่นได้ดำเนินการใน  ๒  แนวทาง  คือ  การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมโดยตรง  กับการปรับปรุงนโยบายของประเทศในด้านอื่นๆ  ให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม
                การกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ  ญี่ปุ่นดำเนินการดังนี้
                ๑.  ญี่ปุ่นกำหนดระบบเศรษฐกิจของประเทศไว้อย่างแน่นอนว่า  ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม  ญี่ปุ่นจึงมีนโยบายสนับสนุนความคิดริเริ่มในการดำเนินกิจการต่างๆ  และให้มีการใช้ประโยชน์จากพลังงานต่างๆ  ที่มีอยู่ได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด
                ๒.  รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนต่อระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมอย่างมาก  ทำให้มีการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ  ได้แก่  กลุ่มธนาคารและกลุ่มอุตสาหกรรม  เพื่อแก้ไขสภาพความตกต่ำทางเศรษฐกิจให้หมดไปจากญี่ปุ่น  และยังทำให้การบริการของรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
                การปรับปรุงนโยบายของประเทศในด้านอื่นๆ  ให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม  ดังนี้
                        ๑)  ญี่ปุ่นได้ดำเนินการปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีมาตรฐาน  เพื่อให้คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและอยู่ในระดับสูง  ญี่ปุ่นจึงมีประชากรที่มีคุณภาพมีความสามารถที่จะเข้าใจถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  ที่จะทำให้ญี่ปุ่นเจริญขึ้น  และแก้ไขปัญหาต่างๆ  ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
                        ๒)  ญี่ปุ่นรักษาความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาไว้อย่างต่อเนื่อง  ทำให้ญี่ปุ่นได้รับความช่วยเหลือในแบบต่างๆ  ตลอดมาอย่างสม่ำเสมอ  เช่น  การที่สหรัฐอเมริกาช่วยซื้อสินค้าญี่ปุ่นอย่างมากมายในสงครามเกาหลี  ทำให้ญี่ปุ่นมีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น  กับทั้งสามารถนำรายได้เหล่านั้นไปปรับปรุงกิจการทางด้านอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นให้เจริญก้าวหน้าขึ้น  นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกาก็ยังให้ความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ  อันเป็นการถ่ายทอดความรู้ทางเทคนิคในด้านต่างๆ  ให้ญี่ปุ่นอย่างเต็มที่  เพื่อให้ญี่ปุ่นได้นำมาใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรม  รวมทั้งการให้กู้ยืมเงินในระยะยาวเพื่อใช้ในการลงทุนขายวัตถุดิบให้ญี่ปุ่น  และเป็นตลาดรับซื้อสินค้าจากญี่ปุ่นมากที่สุด  นับเป็นความช่วยเหลืออย่างสำคัญที่ก่อประโยชน์ให้ญี่ปุ่นเป็นอันมาก
                        ๓)  ญี่ปุ่นได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของตนกับประเทศต่างๆ  ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามโครงการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม  โครงการช่วยเหลือประเทศต่างๆ  เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่น้อย  เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งข้อกำหนดไว้ว่าเงินช่วยเหลือเหล่านั้นจะต้องใช้ซื้อสินค้าญี่ปุ่น  เช่น  รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องใช้เงินที่ญี่ปุ่นช่วยเหลือซื้อสินค้าญี่ปุ่น  จึงเท่ากับเป็นการจ่ายเงินกลับคืนสู่นายทุนญี่ปุ่นตามเดิมนั่นเอง  สำหรับโครงการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม  ญี่ปุ่นถือว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาติ  การชำระจริงๆ  จึงกระทำกันในรูปของการลงทุน  เช่น  การที่ญี่ปุ่นจัดการตั้งโรงงานผลิตกระสุนมูลค่า  ๖  ล้านดอลลาร์ให้ฟิลิปปินส์เป็นการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม  ในลักษณะเช่นนี้ทำให้ญี่ปุ่นมีความผูกพันทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคแถบนี้มากขึ้น  เพราะประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาเทคนิคต่างๆ  จากญี่ปุ่น
                การที่ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการดำเนินตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้  ทำให้ญี่ปุ่นสามารถฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจจนมีผลให้ญี่ปุ่นพ้นจากสภาพการเป็นหนี้สินในสมัยสงครามโลก  กลายเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างสูงประเทศหนึ่ง  อย่างไรก็ดี  ถึงแม้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะมั่นคงเนื่องจากรายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มอย่างมากทุกปี  นับแต่สิ้นสุดการยึดครองเป็นต้นมา  แต่ญี่ปุ่นก็ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่  ปัญหาทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในระยะหลังการยึดครอง  ได้แก่
                ๑.  การที่ญี่ปุ่นใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม  ทำให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างการลงทุนทางเศรษฐกิจของเอกชนกับของรัฐบาล  ซึ่งปรากฏว่าเอกชนเจริญก้าวหน้ามากกว่า  ทั้งนี้เพราะเอกชนกล้าลงทุน  ทำให้การพัฒนาในกิจการของเอกชนเป็นไปอย่างรวดเร็ว  และส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จ  ในขณะที่ทางรัฐบาลลงทุนน้อยและต้องประหยัดเงินไว้ใช้ในกรณีพิเศษ  ทำให้รัฐบาลต้องพึ่งพาเอกชนอย่างมาก
                ๒.  ระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทอุตสาหกรรม  การที่ลักษณะของโรงงานอุตสาหกรรมมี  ๒  ประเภท  ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไม่เท่ากัน  ทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ  ตามมา  เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมใหม่มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง  มีคนงานเป็นจำนวนมาก  และโดยเฉพาะอัตราค่าจ้างแรงงานได้รับมากกว่าโรงงานขนาดเล็ก  ส่วนประเภทโรงงานขนาดเล็ก  การผลิตจะอยู่ในอัตราต่ำ  ค่าจ้างคนงานจึงต่ำกว่า  ทำให้เกิดความแตกต่างกันในระดับค่าจ้างแรงงาน  มีผลทำให้มีการเรียกร้องปรับปรุงค่าจ้างให้เหมาะสม  ทำให้สินค้ามีราคาสูงขึ้น  เมื่อมีการปรับค่าแรง  สินค้าต่างๆ  ก็มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย  ทำให้ค่าครองชีพมีอัตราสูงขึ้นทุกปี
                ๓.  เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป็นเกาะและเนื้อที่จำกัด  ทำให้ไม่มีดินมากพอเพื่อจะทำการเกษตร  ผลผลิตทางการเกษตรจึงไม่เพียงพอกับจำนวนประชากร  ญี่ปุ่นจึงขาดแคลนอาหารและผลิตผลทางการเกษตร  และยิ่งกว่านั้น  ญี่ปุ่นไม่มีวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเพียงพอที่จะใช้ในการผลิตทางอุตสาหกรรม  โดยเหตุนี้  ญี่ปุ่นจึงต้องสั่งซื้อสินค้าเข้าประเภทดังกล่าวจำนวนมาก  การที่ญี่ปุ่นต้องการสินค้าวัตถุดิบมากก่อให้เกิดผลคือ
                        ก.  ญี่ปุ่นต้องดำเนินนโยบายต่างประเทศ  โดยเป็นมิตรกับประเทศที่ส่งวัตถุดิบให้ญี่ปุ่น  เช่น  ทำสนธิสัญญาค้าไม้กับสหภาพโซเวียต  ทำให้ญี่ปุ่นและสหภาพโซเวียตมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจมากขึ้น  ซึ่งมีผลให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจ
                        ข.  ญี่ปุ่นพยายามดำเนินการควบคุมแหล่งวัตถุดิบให้มากขึ้นโดยมีความสัมพันธ์กับประเทศในโลกที่  ๓  เช่น  ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และในตะวันออกกลาง  เช่น  กับประเทศซาอุดีอาระเบีย  โดยการทำสัญญาการลงทุนระยะยาวเพื่อควบคุมแหล่งวัตถุดิบ  มีผลให้ญี่ปุ่นเริ่มจะมีปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจกับประเทศทางตะวันตกมากขึ้น
                ๔.  การที่ญี่ปุ่นจำเป็นต้องผลิตสินค้าส่งออกให้มาก  เพื่อจะได้เงินตราต่างประเทศอย่างพอเพียง  และเพื่อจะได้มีเงินทุนขยายกิจการทางด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น  ทำให้ญี่ปุ่นจำเป็นต้องใช้นโยบายควบคุมสินค้าขาเข้า  เพราะเป็นการประหยัดเงินตราไม่ให้ไหลออกนอกประเทศ  นโยบายดังกล่าวทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่พอใจ  เพราะไม่สามารถหาซื้อสินค้าที่ตนต้องการได้  จึงต้องการให้รัฐบาลสั่งสินค้าเข้าเพิ่มให้มากขึ้น

1 ความคิดเห็น: