วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จีนหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม

บทที่  ๓
การเมือง  เศรษฐกิจ  และสังคมของสาธารณรัฐประชาชนจีน
หลังการปฏิวัติวัฒนธรรมถึงปัจจุบัน

ตลอดระยะเวลากว่า  ๓๐  ปี  ตั้งแต่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตงสามารถสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนสำเร็จใน  ค.ศ. ๑๙๔๙  ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายกลับไปกลับมาในลักษณะการต่อสู้  ๒  แนวทางตลอดมา  กล่าวคือ
                ในด้านการเมืองภายในและการต่างประเทศ  จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างแนวทางปฏิวัติและการอยู่รวมกันอย่างสันติเพื่อความมั่นคน  นั่นก็คือ  เมื่อใดที่การเมืองภายในและการต่างประเทศเน้นแนวการปฏิวัติ  จะส่งผลกระทบถึงการมีแนวทางด้านเศรษฐกิจที่เน้นการเฉลี่ยกระจายแบบสังคมนิยมตามหลักเสมอภาคทางเศรษฐกิจ  ด้วยการให้แต่ละชุมชนสามารถเลี้ยงตัวเองหรือพึ่งตัวเองได้  จึงมีระบบการแจกแจงรายได้  และการแจกแจงอำนาจและอภิสิทธิ์  รวมทั้งอำนาจในการควบคุมปัจจัยการผลิต  โดยให้เป็นสิทธิของแต่ละชุมชนดำเนินการเองอย่างอิสระ  เพื่อจะได้บรรลุจุดประสงค์ตามหลักการพึ่งพาตนเอง  เช่น  สมัยปฏิวัติวัฒนธรรม  แต่เมื่อใดที่การเมืองภายในและการต่างประเทศเน้นแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเพื่อความมั่นคง  จะส่งผลกระทบถึงแนวทางด้านเศรษฐกิจที่มีการเน้นความเจริญเติบโตแบบทุนนิยม  คือ  การที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการลงทุนของเอกชนมากขึ้น  มีการแข่งขันกันผลิตโดยรัฐบาลควบคุมอยู่ห่างๆ  โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกลไกแห่งราคาในตลาด  เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนได้แข่งขันกันมากขึ้นอันจะทำให้กิจการต่างๆ  ขยายตัวเพิ่มขึ้น  ลักษณะดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นในระยะ  ๙  ปีโดยประมาณ
โรงงานอุตสาหกรรมริมฝั่งแม่น้ำแยงซีในประเทศจีน
                ในด้านเศรษฐกิจ  จะเปลี่ยนกลับไปกลับมาระหว่างแนวทางพัฒนาที่เน้นการเฉลี่ยกระจายแบบสังคมนิยม  และแนวทางพัฒนาที่เน้นความเจริญเติบโตแบบทุนนิยม  ที่สอดคล้องกับแนวทางการเมืองภายในและการต่างประเทศ  ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงสภาพทางสังคมด

ในด้านสังคม    มีประชากรมากถึงประมาณ  ๑,๐๐๐  ล้านคน  ซึ่งสูงเป็นอันดับ  ๑  ของโลก  ขณะที่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยระหว่างช่วง  ค.ศ. ๑๙๘๐  ปรากฏว่ามีการขยายตัวของประชากรถึงร้อยละ  ๑.๒  สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงตั้งเป้าหมายจะพยายามควบคุมการขยายตัวของประชากรให้เหลือเพียงประมาณร้อยละ  ๐.๕  ภายใน  ค.ศ. ๑๙๘๕  และให้เท่ากับร้อยละ  ๐  ใน  ค.ศ. ๒๐๐๐  ปัญหาประชากรดังกล่าวทำให้รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาคนว่างงานให้ทุเลาเบาบางไปได้โดยง่าย  ก่อให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทมากขึ้น  แม้ว่าในปัจจุบันจะได้ดำเนินมาตรการปรับตัวทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขแล้วก็ตาม
                นอกจากนั้น  ยังมีปัญหาสังคมเกิดขึ้น  อันเนื่องมาจากการเปิดรับความเจริญก้าวหน้าแบบประเทศทุนนิยมตะวันตก  ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างทางสังคมของประเทศ  โดยเฉพาะหากไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม  อาจกระทบต่อโครงสร้างของระบบสังคมทั้งหมดในระยะยาวได้  เช่น  ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง  และปัญหาอาชญากรรม  เป็นต้น  อันเนื่องมาจากความปรารถนาวัตถุโดยปราศจากขอบเขต
ชุดกี่เพ้า
                การเปลี่ยนแปลงของสาธารณรัฐประชาชนจีนดังกล่าว  ช่วยชี้ให้เห็นพื้นฐานการเปลี่ยนแปลงในลักษณะวัฏจักรทั้งทางการเมือง  การต่างประเทศ  และเศรษฐกิจสังคมในอนาคตได้เป็นอย่างดี  และช่วยชี้ให้เห็นแนวโน้มอีกประการหนึ่งด้วยว่า  สาธารณรัฐประชาชนจีนจะกลายเป็นประเทศสำคัญ  ที่จะมีบทบาทในการเมืองร่วมกับมหาอำนาจอื่นๆ  อันได้แก่  สหรัฐอเมริกา  สหภาพโซเวียต  ญี่ปุ่น  และประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันตกทั้งอังกฤษ  ฝรั่งเศส  เยอรมนี  ฯลฯ  ไม่ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะหันเหนโยบายไปในทิศทางใดก็ตาม
สิ่งที่ควรรู้
                ๑.  ประชาธิปไตยรวมศูนย์  คือ  รูปการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์อื่นๆ  ที่มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว  คือ  พรรคคอมมิวนิสต์  ที่ถือว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อต้องการขจัดปัญหาความแตกต่างระหว่างชนชั้นให้หมดไป  ในทางปฏิบัติ  พรรคคอมมิวนิสต์จะเป็นผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับต่างๆ  ตั้งแต่ส่วนกลางจนกระทั่งส่วนท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ  ทั้งนี้โดยปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องที่  วิธีการดังกล่าวฝ่ายโลกเสรีได้โจมตีว่าเป็นเผด็จการเพราะไม่ยินยอมให้มีพรรคฝ่ายค้าน  อย่างไรก็ดี  สาธารณรัฐประชาชนจีนในยุค  ๔  ทันสมัย  ก็ได้พยายามปรับปรุงวิธีการต่างๆ  ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  แม้ว่าจะยังคงมีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว  ด้วยเหตุที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะไม่เข้าไปแทรกแซงการบริหารงานของรัฐบาลมากดังแต่ก่อน  แต่จะปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาล  โดยพรรคจะหันไปให้ความสำคัญด้านบทบาทการเป็นผู้นำทางการเมืองด้านนโยบายมากขึ้น
                ๒.  ๔  ทันสมัย  คือ  นโยบายของกลุ่มนักปฏิบัติ  ซึ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยอาศัยเทคโนโลยีและการลงทุนจากภายนอก  เพื่อพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศสังคมนิยมที่ทันสมัย  นโยบาย  ๔  ทันสมัยริเริ่มนำไปใช้อย่างจริงจังครั้งแรกภายใต้การนำของโจวเอินไหล  และได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งภายใต้การผลักดันของเติ้งเสี่ยวผิงภายหลังมรณกรรมของเหมาเจ๋อตง  นโยบายนี้มุ่งดำเนินการใน  ๔  ด้าน  คือ  เกษตรกรรมทันสมัย  อุตสาหกรรมทันสมัย  การป้องกันประเทศทันสมัย  และเทคโนโลยีทันสมัย  โดยพยายามประยุกต์ใช้วิธีการจัดการบริหารแบบประชาธิปไตยตะวันตก  เพื่อสร้างความมีประสิทธิภาพของระบบด้วย
                ๓.  หลัก  ๔  ใหญ่  คือ  หลักการสำคัญ  ๔  ประการ  ได้แก่  การแสดงทัศนะอย่างเสรี  การแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่  การอภิปรายโต้แย้งอย่างกว้างขวาง  และการปิดโปสเตอร์หนังสือตัวโต  ที่เหมาเจ๋อตงสนับสนุนให้ใช้อย่างกว้างขวางในสมัยปฏิวัติ  โดยมีจุดมุ่งหมายรณรงค์ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์โจมตีแนวความคิดของฝ่ายที่ยอมรับระบอบทุนนิยมตะวันตกไปใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน  ซึ่งเหมาเจ๋อตงโจมตีว่าเป็นลัทธิแก้  เหมาเจ๋อตงเกรงว่าการเดินตามแนวทางทุนนิยมจะมีอิทธิพลเบี่ยงเบนและเป็นอุปสรรคต่อการก้าวไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ในอุดมคติ  ขณะเดียวกันก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาเจ๋อตงมีจุดมุ่งหมายแอบแฝงอยู่  ที่จะใช้วิธีการรณรงค์ดังกล่าวเพื่อขจัดคู่แข่งทางการเมืองของตนพร้อมกันไปด้วย  ต่อมา  เมื่อเติ้งเสี่ยวผิงผลักดันให้ใช้นโยบาย  ๔  ทันสมัย  จึงสั่งห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองของประชาชนอย่างเสรี  ด้วยเกรงว่าจะส่งผลกระทบถึงนโยบายดังกล่าว
                ๔.  ลัทธิเหมา  คือ  แนวความคิดของเหมาเจ๋อตงที่เน้นการปฏิวัติแบบชนบทล้อมเมือง  โดยถือเอาชาวนาชาวไร่ในชนบทเป็นแนวหน้าของการปฏิวัติ  เพื่อประสานกับกรรมกรในเมือง  ซึ่งต่างจากยุทธวิธีการปฏิวัติของสหภาพโซเวียต  ที่เน้นการปฏิวัติโดยมีกรรมกรเป็นหลักในการยึดอำนาจรัฐจากตัวเมืองแล้วขยายไปสู่ชนบท  ยุทธวิธีการปฏิวัติของเหมาเจ๋อตงจะใช้สงครามกองโจรคอยซุ่มโจมตีทำลายกองกำลังของปรปักษ์  ขณะเดียวกันก็ปลุกระดมมวลชนขายเขตฐานที่มั่นในชนบทเพื่อขยายแนวร่วมการสู้รบยึดอำนาจรัฐในที่สุด  เป้าหมายหลักของลัทธิเหมา  คือ  การปฏิวัติแบบพึ่งตนเองเพื่อต่อต้านอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต  ๒  อภิมหาอำนาจที่พยายามจะเข้าแทรกแซงในโลกที่  ๓  เพื่อครอบครองโลก  โดยเฉพาะในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนถือเป็นเขตอิทธิพล
                ๕.  ทฤษฎี  ๓  โลก  คือ  นโยบายที่เหมาเจ๋อตงและผู้นำของสาธารณรัฐประชาชนจีนคนอื่นๆ  เรียกร้องให้โลกที่  ๓  ซึ่งประกอบด้วย  ประเทศด้วยพัฒนาในเอเชีย  แอฟริกา  และละตินอเมริการ่วมมือกับประเทศในกลุ่มโลกที่  ๒  คือ  ประเทศที่พัฒนาแล้ว  ได้แก่  ยุโรปตะวันตก  แคนาดา  ญี่ปุ่น  ออสเตรเลีย  และนิวซีแลนด์  รวมทั้งประเทศในยุโรปตะวันออก  เพื่อร่วมกันต่อต้านประเทศในโลกที่  ๑  โดยมีสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นศัตรูสำคัญ  แต่ในยุค  ๔  ทันสมัย  เติ้งเสี่ยวผิงได้ปรับยุทธศาสตร์เสียใหม่ด้วยการเน้นต่อต้านสหภาพโซเวียตเป็นสำคัญ  เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนเชื่อว่าปัจจุบันสหภาพโซเวียตมีนโยบายคุกคามที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพของโลก  จึงจำเป็นต้องรวมพลังอำนาจต่างๆ  ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อต่อต้าน  ขณะเดียวกัน  ก็เป็นประโยชน์ต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สามารถเรียกร้องความช่วยเหลือร่วมมือทางเศรษฐกิจจากประเทศต่างๆ  ที่พัฒนาแล้วเพื่อบรรลุนโยบาย  ๔  ทันสมัยอีกด้วย
ชายฝั่งทะเลจีนใต้ในไหหนาน
                ๖.  ลัทธิครองความเป็นเจ้า  เป็นถ้อยคำที่สาธารณรัฐประชาชนจีนให้เรียกประมาณเป้าหมายนโยบายต่างประเทศของสหภาพโซเวียต  ว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะขยายอิทธิพลเพื่อครอบครองโลก  โดยอ้างว่าเพื่อเผยแพร่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์  สาธารณรัฐประชาชนจีนได้โจมตีคัดค้านวิธีการของสหภาพโซเวียตในการสนับสนุนการปฏิวัติในประเทศต่างๆ  โดยเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาในโลกที่  ๓  ว่ามีลักษณะเข้าแทรกแซงครอบงำโดยเปิดเผย  อันเป็นการละเมิดอธิปไตยเหนือดินแดน  วิธีการขยายอิทธิพลและอุดมการณ์ของสหภาพโซเวียตดังกล่าว  สาธารณรัฐประชาชนจีนถือว่าเป็นวิธีการของประเทศจักรวรรดินิยมเข้ายึดครองดินแดนประเทศอื่นเป็นเมืองขึ้น  ในฐานะที่สหภาพโซเวียตเป็นประเทศสังคมนิยม  สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงเรียกชื่อว่าเป็นประเทศสังคมจักรพรรดินิยม