วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ก. สถานการณ์ทั่วไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒

ก. สถานการณ์ทั่วไปก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ การปกครองของราชวงศ์แมนจูเสื่อมอำนาจลงอย่างเห็นได้ชัด ประเทศมหาอำนาจต่างๆ เข้ามากอบโกยผลประโยชน์และเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีน โดยที่รัฐบาลจีนไม่สามารถจะป้องกันได้ ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนจึงไม่พอใจราชวงศ์แมนจู ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๕ ดร.ซุนยัตเซน (Sun Yat Sen) ได้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์เพื่อเอกภาพชื่อ ตุงเม่งฮุย (Tung Meng Hui) ขึ้นใน


                                   ซุนยัดเซน หัวหน้าพรรคคณะชาติแห่งประเทศจีน
                                  ผู้นำการปฏิวัติล้มล้างอำนาจกษัตริย์ใน ค.ศ. ๑๙๑๑

ญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ชาวจีนโค่นล้มราชวงศ์แมนจูและก่อตั้งสาธารณรัฐจีน ดร.ซุนยัตเซนได้ออกหนังสือพิมพ์หมิน เป้า (Min Pao) เพื่อเผยแพร่แนวความคิดในหมู่นักศึกษาชาวจีนที่ศึกษาอยู่ในประเทศญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๕ - ๑๙๑๑ ดร.ซุนยัตเซนได้เดินทางไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาโดยได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนโพ้นทะเลเป็นอย่างดี ขณะที่ ดร.ซุนยัตเซนขยายแนวคิดปฏิวัติอยู่ในต่างประเทศนั้น สหพันธ์เพื่อเอกภาพได้ก่อการจลาจลต่อต้านราชวงศ์แมนจูขึ้นหลายครั้งในภาคใต้ของประเทศจีน แต่ก็ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งมีการลุกฮือขึ้นทำการปฏิวัติเป็นครั้งที่ ๑๐ ที่เมืองวูชาง (Wuchang) มนฑลเหอเป่ย (Hupeh) ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๑ จึงประสบผลสำเร็จ ขณะนั้น ดร.ซุนยัตเซนยังอยู่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อได้รับทราบข่าวจึงรีบเดินทางกลับประเทศจีน และปีต่อมา ซุนยัตเซนได้ร่วมกับผู้มีแนวความคิดนิยมระบอบสาธารณรัฐก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นคือ พรรคก๊กมินตั่ง (Kuomintang) หลังจากนั้นก็ได้ติดต่อกับยวนซีไข (Yuan Shih K’ai) ซึ่งขณะนั้นยังเป็นผู้บัญชาการทางทหารของฝ่ายแมนจู ให้ใช้อำนาจทางทหารของตนบีบบังคับให้จักรพรรดิแห่งราชวงศ์แมนจูสละราชสมบัติ เหตุผลที่ยวนซีไขยอมทรยศต่อฝ่ายแมนจูก็เพราะเขาเป็นผู้มักใหญ่ใฝ่สูง ประกอบกอบชาวจีนเสื่อมอำนาจลง และขณะนั้น ยวนซีไขเป็นผู้ที่อยู่ในฐานสามารถจะชี้ขายผลการต่อสู้ได้เพราะหากเขาตัดสินใจเข้าข้างฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมได้เปรียบทันที ดังนั้น เมื่อยวนซีไขมองเห็นลู่ทางที่ตนจะขึ้นมามีอำนาจเสียเอง จึงได้ฉวยโอกาสรับข้อเสนอของฝ่ายขบวนการปฏิวัติทันที
เมื่อกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์แมนจู คือ พระเจ้าชวนทังยอมสละราชสมบัติใน ค.ศ. ๑๙๑๒ คณะปฏิวัติได้เลือกยวนซีไขให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่การที่ยวนซีไขมีความต้องการปกครองประเทศแบบเผด็จการ ทำให้ขัดแย้งกับคณะปฏิวัติที่มีอุดมการณ์จะให้ประเทศจีนมีการปกครองแบบรัฐสภา โดยมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ซุนยัตเซนซึ่งเป็นผู้นำคนสำคัญของคณะปฏิวัติและเคยเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐจีน จึงได้ทำการปฏิวัติครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ แต่ซุนยัตเซนเป็นฝ่ายแพ้หนีไปอยู่ญี่ปุ่น จึงเหลือแต่คณะพรรคก๊กมิตั่ง (พรรคคณะชาติ) ยวนซีไขจึงประกาศยุบรัฐสภาและยุบคณะพรรคก๊กมินตั่งด้วย แล้วรวมอำนาจการปกครองไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้อำนาจส่วนใหญ่อยู่ในความควบคุมของฝ่ายบริหาร ความเข้มแข็งของยวนซีไขและความสามารถในการควบคุมกำลังทหารทำให้ประเทศมหาอำนาจในเวลานั้น คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาต่างก็ให้การสนับสนุนยวนซีไข จึงทำให้ฐานะของยวนซีไขมั่นคง
จีนได้พยายามที่จะปรับปรุงประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าตามแบบญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เพราะนับได้ว่าญี่ปุ่นอยู่ในฐานะเป็นมหาอำนาจในเอเชีย เห็นได้จากการที่ญี่ปุ่นมีชัยในสงครามรุสเซีย - ญี่ปุ่น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔ - ๑๙๐๕ แต่ความพยายามของจีนก็ไม่ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๑๑ หลังจากปฏิวัติสถานการณ์ภายในของจีนก็ยิ่งเลวร้ายลงด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
(๑) สถานการณ์ภายในจีนเองไม่มีความมั่นคง เนื่องจากความแตกแยกมีมากในระดับผู้บริหารของจีน เช่น การขัดแย้งทางความคิดในการปกครองระหว่างยวนซีไขและซุนยัตเซน เป็นต้น
(๒) ทางเศรษฐกิจได้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน เพราะเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ จีนต้องปรับปรุงประเทศมาก ทำให้จีนต้องกู้เงินจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพื่อมาใช้ในการนี้ จึงเกิดความตกต่ำทางเศรษฐกิจและเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้น
(๓) สถานการณ์นอกประเทศไม่มีผลดีต่อจีน เพราะเสถียรภาพของจีนถูกคุกคามโดยทุกประเทศที่เข้ามาติดต่อเกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะสหภาพโซเวียตและญี่ปุ่นซึ่งต้องการที่จะมีอิทธิพลเด็ดขาดในแมนจูเรีย
ฐานะของจีนเริ่มดีขึ้นเมื่อจีนเข้าร่วมในสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้จีนได้รับผลตอบแทนบ้างเมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรมีชัยในสงคราม เช่น ได้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตคืนมาจากประเทศที่แพ้สงคราม ได้เขตสัมปทานคืนจากเยอรมนีและประเทศสัมพันธมิตร ได้ยึดเวลาชำระค่าปรับที่มีผลมาจากกบฏนักมวย* ออกไปอีก ๕ ปี ที่มากกว่านั้นก็คือ สหรัฐอเมริกาได้เข้ามาช่วยเหลือจีนมากขึ้น ในฐานะที่สหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้รับรองเอกราชและเสถียรภาพของจีนตั้งแต่ต้นตามนโยบาย “เปิดประตู” ใน ค.ศ. ๑๘๙๙** สหรัฐอเมริกาได้จัดการประชุม ๙ ประเทศขึ้นที่กรุงวอชิงตัน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๑ - กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๒ ที่ประชุมประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม ฮอลแลนด์ จีน ญี่ปุ่น และโปรตุเกส เพื่อลดกำลังอาวุธ และพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับตะวันออก ผลการประชุมปรากฏว่า ประเทศที่เข้าประชุมก็รับว่าจะเคารพเอกราชอธิปไตยและการปกครองภายในของจีน และให้จีนเป็นประเทศเปิดตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการ การตกลงครั้งนี้ทำให้ฐานะของจีนดีขึ้น เพราะญี่ปุ่นยอมคืนแหลมชานตุง และอังกฤษยอมคืนเวไฮเว่ให้แก่จีน
*กบฏนักมวยเกิดใน ค.ศ. ๑๙๐๐ มีอุดมการณ์ที่จะกวาดล้างชาวต่างชาติให้หมดสิ้นไป ได้มีการปล้น เผาบ้านเรือนของชาวคริสเตียน และเข้ายึดสถานที่ทำการของชาวต่างชาติ แต่ในที่สุดกองทัพของชาวต่างชาติก็ได้ทำลายกำลังของนักมวยลง กบฏครั้งนี้แสดงถึงความรู้สึกชาตินิยมของจีน แต่ผลจากการพ่ายแพ้ทำให้จีนต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมาก (พร้อมทั้งดอกเบี้ยในระยะเวลา ๓๙ ปี คิดเป็นจำนวนทั้งหมดเกือบ ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์) และยอมให้กองทหารต่างชาติมาอยู่ในจีน นอกจากนั้นจีนยังต้องลงโทษผู้กระทำผิดกับทั้งต้องยอมยกดินแดนบางส่วนให้สหภาพโซเวียต เพื่อแลกกับการที่สหภาพโซเวียตต้องถอนทหารออกจากทางเหนือของจีน
**จุดประสงค์นโยบาย “เปิดประตู” ของสหรัฐอเมริกา ก็คือ การที่สหรัฐอเมริกาต้องการที่จะเปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันระหว่างนานาชาติในการติดต่อกับจีน โดยมีหลักการว่า
(๑) จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารของจีนในเขตเช่านั้นๆ
(๒) จะไม่ขัดขวางการเก็บภาษีศุลกากรของจีน
(๓) จะไม่ตั้งอัตราค่าโดยสารรถไฟ หรือค่าธรรมเนียมท่าเรือ (แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้) ด้วยเหตุนี้ ก็เท่ากับว่าสหรัฐอเมริกาเข้ามาสร้างความยุติธรรมให้แก่จีนในการติดต่อกับต่างชาติ และบรรดาชาติยุโรปจะร่วมรักษาเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดนจีนร่วม


เจียง ไคเช็ค ผู้นำก็กมินตั๋งต่อต้านซุนยัตเซน

แต่เมื่อฐานะระหว่างประเทศของจีนดีขึ้น สถานการณ์ภายในกลับเป็นอุปสรรคต่อจีนอีกเพราะมีความวุ่นวายที่ทำให้จีนไม่สามารถตั้งตัวได้เลย ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ยวนซีไข ถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๑๙๑๖ จีนตกอยู่ในยุคขุนศึกซึ่งแย่งชิงอำนาจกันเอง เกิดความปั่นป่วนทางการเมืองภายในประเทศกินเวลาถึง ๓ ปี จนในที่สุด ซุนยัตเซนได้รวมกำลังตั้งพรรคก๊กมินตั่งขึ้นอีกที่เมืองกวางตุ้ง เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี จีนจึงแตกแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ จีนเหนือและจีนใต้ จีนใต้ซึ่งมีซุนยัตเซนเป็นผู้นำ มีนโยบายขอความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตในการปรับปรุงประเทศ และได้รับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้ามาในพรรคก๊กมินตั่งใน ค.ศ. ๑๙๒๔ ซุนยัตเซนปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรวมประเทศ จึงได้เดินทางไปยังกรุงปักกิ่งเพื่อเจรจาที่จะรวมจีนให้มีเอกภาพ แต่ซุนยัตเซนเริ่มป่วยหนัก และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ เจียงไคเช็ค (Chiang Kai Shek) ซึ่งได้รับการศึกษาจากญี่ปุ่นได้เป็นผู้นำพรรคก๊กมินตั่งคนต่อมา เขาได้พยายามปราบจีนทางเหนือ และเมื่อตีปักกิ่งได้ ก็ได้สถาปนาเมืองหลวงไปอยู่ที่นานกิงใน ค.ศ. ๑๙๒๘ แต่เจียงไคเช็คก็ยังเผชิญกับความแตกแยกภายใน อันเนื่องมาจากการเริ่มมีอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และปัญหาภายนอกอันเนื่องมาจากการคุกคามของญี่ปุ่นเป็นสำคัญ