วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประเทศจีนหลังสงครามกลางเมือง


ใบความรู้ เรื่อง ประเทศจีนหลังสงครามกลางเมือง
 ประเทศจีนหลังสงครามกลางเมือง
                สภาพการณ์ของจีนหลังสงครามกลางเมือง  มีแนวทางการปรับปรุงประเทศใน  ๒  ด้าน  คือ
๑.       ระบอบการปกครองภายในของจีน
๒.     การกำหนดนโยบายต่างประเทศ
                ระบอบการปกครองภายในของจีน  ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์  ซึ่งพยายามเสริมสร้างความมั่นคงทางการเมือง  ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ  และความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางสังคม  พิจารณาตามลำดับได้  ดังนี้
                ๑.  ด้านความมั่นคงทางการเมือง  สาธารณรัฐประชาชนจีนได้จัดรูปแบบการบริหารประเทศเสียใหม่ซึ่งระบอบการปกครองใหม่นี้  เรียกว่า  ระบอบเผด็จการประชาธิปไตยของประชาชน (People’s Democratic Dictatorship)  หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ  ก็คือ
                        (๑)  อำนาจรัฐเป็นของประชาชน  ประชาชนใช้อำนาจนี้โดยผ่านสภาประชาชนแห่งชาติและสภาประชาชนในระดับท้องถิ่น
                        (๒)  ประชาชนทุกเชื้อชาติในประเทศ  (ส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่นหรือชาวจีนแท้และชนกลุ่มน้อยอีกประมาร  ๕๕  กลุ่ม  เช่น  มองโกเลียน  ทิเบต  แมนจู  เย้า  อุยกุย  เป็นต้น)  มีความเสมอภาค  และมีเสรีภาพในการใช้ภาษาพูด  ภาษาเขียนของตนเอง
                        (๓)  ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา  หรือไม่นับถือศาสนา
ตามรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐประชาชนจีนจัดแบ่งอำนาจการปกครองเป็น  ๔  ด้าน  คือ
                        (๑)  สภารัฐบาลกลางของประชาชน  ประกอบด้วยฝ่ายนิติบัญญัติ  ฝ่ายบริหาร  และฝ่ายตุลาการ
                        (๒)  สภาบริหารรัฐบาล  ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการพรรคเป็นคณะที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ
                        (๓)  สภาทหารปฏิวัติมีเหมาเจ๋อตงเป็นประธาน  และมีรองประธาน  ๗  คน  ทำหน้าที่ควบคุมการทหารทั้งหมด
                        (๔)  หน่วยงานที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย  ได้แก่  ศาลสูงสุด  และสำนักงานอัยการ (Procurator General’s Office)
                อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้สาธารณรัฐประชาชนจีนจะมีรัฐสภาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ  แต่ก็ไม่นิยมการออกฎหมาย  ส่วนใหญ่ใช้วิธีการกำหนดออกมาเป็นนโยบายแล้วมีคำสั่งควบคู่กันไป  เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  จะต้องสอดคล้องกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาตลอดเวลา  ถ้ามีการออกเป็นกฎหมายแล้วจะทำให้เปลี่ยนแปลงยาก  นอกจากนี้  ชาวจีนเองไม่ชอบการใช้วิธีการออกกฎหมายควบคุม  แต่จะใช้วิธีการสอนให้คนรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกเหมือนกับคำสั่งสอนของขงจื๊อ  จึงไม่นิยมบังคับให้คนทำอะไรเพราะความกลัวกฎหมาย  เมื่อเปลี่ยนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์  ความคิดนี้ก็ยังคงมีอยู่ทำให้กฎหมายที่ออกมาใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีนในยุคนั้นมีน้อยฉบับ  และกฎหมายที่ออกมาก็มีจุดประสงค์เพื่อจะชักชวนให้มีการกระทำบางประการเกิดขึ้นในรูปของการรณรงค์ของมวลชน
                ๒.  ด้านการปรับปรุงเศรษฐกิจ  มีการดำเนินการที่สำคัญ  คือ
                        ๒.๑  การปฏิรูปที่ดิน   รัฐบาลออกกฎหมายปฏิรูปที่ดิน (Land Reform Law)  เมื่อวันที่  ๒๘  มิถุนายน  ค.ศ. ๑๙๕๐  โดยนำที่ดินของเจ้าของที่ดินรายใหญ่ๆ  ไปแจกจ่ายให้แก่ชาวนาที่ไม่มีที่ดินทำกินประมาณ  ๓๐๐  ล้านคน  ด้วยการจัดแบ่งที่ดินให้ประชาชนเท่าๆ  กันครอบครอง  ๓ใน 4    ไร่  เพื่อใช้ในการเกษตร    แต่ต่อมารัฐบาลเห็นว่าการแบ่งที่ดินเป็นแปลงเล็กๆ  นั้นไม่สามารถจะปรับปรุงให้ทันสมัยโดยใช้เครื่องจักรทำนาได้จึงให้มีการรวมนาเข้าด้วยกันเป็นผืนใหญ่  เรียกว่า  การทำนารวม (Collective Farm)  มีรูปแบบดังนี้  คือ
                        -  จัดตั้งองค์การรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันและกัน
                        -  ร่วมมือในระหว่างผู้ผลิต  ด้วยการนำที่ดิน  เครื่องมือในการผลิต  และแรงงานมารวมกัน  โดยถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของส่วนกลางร่วมกัน
                        -  ผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนก็จะตกอยู่แก่ส่วนรวม  ไม่ใช่ถือว่าเป็นผลประโยชน์ของหุ้นส่วนใดๆ
                        ผลก็คือ  ชาวนาจำนวนมากได้เข้าร่วมในระบบทำนาแบบนี้  ทำให้ผลิตผลการเกษตรของสาธารณรัฐประชาชนชนจีนเพิ่มขึ้น  ปรากฏว่าผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ  ๔.๕  ต่อปี  ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนสามารถบรรเทาความอดอยากอันเนื่องมาจากประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้
                        ๒.๒  การใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ  โดยกำหนดเป็นแผนพัฒนา  ๕  ปี  ๓  ระยะ  เริ่มตั้งแต่  ค.ศ. ๑๙๕๓  และจะสิ้นสุดตามโครงการใน  ค.ศ. ๑๙๖๗  ใน  ค.ศ. ๑๙๕๓  รัฐบาลจึงประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ  ๕  ปีแรก  (ค.ศ. ๑๙๕๓ - ๑๙๕๗)  แผนพัฒนาฉบับแรกนี้ไม่ได้กำหนดรายละเอียดตามโครงการชัดเจน  เพราะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียตอย่างมาก  เนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนจีนขาดแคลนเงินทุนและช่างเทคนิค  ตามแผนการระยะแรก  สหภาพโซเวียตได้ให้ความช่วยเหลือหลายอย่างทางด้าน  ผลจากการดำเนินการตามแผนพัฒนา  ค.ศ. ๑๙๕๓ - ๑๙๕๗  ปรากฏว่าผลิตผลทางด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ  ๑๘  ต่อปี  และผลิตผลทางการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ  ๔.๕  แต่การเพิ่มของผลผลิตก็ไม่สมดุลกับอัตราการเพิ่มของพลเมืองที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว  คือ  ระหว่าง  ค.ศ. ๑๙๕๓ - ๑๙๕๗  เพิ่มขึ้นถึงปีละ  ๑๒  ล้านคน  ทำให้ผลผลิตส่วนใหญ่ต้องนำไปใช้ในการเลี้ยงพลเมืองจีน
                        ๒.๓  การก้าวกระโดดไกล (Great Leap Forward  ค.ศ. ๑๙๕๗-๑๙๖๐)    การเร่งการผลิตครั้งใหญ่ด้วยวิธีการก้าวกระโดดไกล  ก็คือ  การเรียกร้องให้ประชาชนได้มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อจะได้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง  ตามโครงการนี้มีขั้นตอน  คือ
                        (๑)  การระดมมวลชน  (Mass Mobilization)  ประกอบด้วย
                                -  การระดมแรงงานในชนบทให้มากที่สุด  เพื่อทำการสร้างอุปกรณ์และปัจจัยพื้นฐานทางการเกษตร  ได้แก่  การสร้างการชลประทาน  การป้องกันน้ำท่วม  และการปรับปรุงที่ดิน
                                -  จะต้องเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในที่ดินแต่ละแห่งให้มากขึ้น  โดยใช้แรงงานคนเป็นหลัก
                                -  หาทางขยายอุตสาหกรรมเล็กๆ  หรืออุตสาหกรรมพื้นบ้านในท้องถิ่นโดยใช้วัสดุและเครื่องมือง่ายๆ  เพื่อผลิตสินค้าสำหรับการบริโภคและผลิตเครื่องมือสำหรับการเกษตร  ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และประเภทใหม่ๆ  มุ่งผลิตสินค้าส่งไปขายต่างประเทศเพื่อนำเงินตราเข้าประเทศมาใช้ในการเกษตร
                        การเร่งระดมการผลิตได้กระทำทั้งกลางวันและกลางคืน  ชาวจีนนับล้านๆ  คนต่างทำงานในไร่นาตลอดกลางวันและทำงานโรงงานเวลากลางคืน  จึงนับว่าชาวจีนต้องใช้แรงงานอย่างหนักในช่วงระยะนี้
                        (๒)  การจัดตั้งระบบคอมมูน  (Commune)  โครงการคอมมูนเป็นอีกส่วนหนึ่งของโครงการก้าวกระโดดไกล  โดยมีจุดประสงค์  คือ
                                -  เพื่อจัดระบบการปกครองพื้นฐานให้มีความมั่นคงและมีประสิทธิภาพเพราะถือว่า  เมื่อพื้นฐานหรือรากฐานแข็งแรงแล้วโครงสร้างทั้งหมดก็จะอยู่ได้  คอมมูนจึงมีลักษณะเหมือนรัฐบาลบริหารรับผิดชอบงานท้องถิ่น  ประกอบด้วย  งานทางด้านทหาร  ความปลอดภัย  การค้า  การคลัง  การเก็บภาษี  การบัญชี  สถิติ  และการวางแผน  ทุกๆ  คนในคอมมูนจะทำงาน  ๒๔  วันใน  ๑  เดือน  ทั้งชายและหญิง  มีศูนย์กลางของคอมมูนรับเลี้ยงดูแลเด็ก  การบริหารในคอมมูนจึงมีลักษณะเป็นการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด  จำนวนครอบครัวในคอมมูนหนึ่งมีอยู่ประมาณ  ๔,๐๐๐ - ๕,๐๐๐  พันครอบครัว  รวมประชากร  ๒๐,๐๐๐  คน
                                -  เพื่อให้มีการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจ  จึงให้มีการผลิตขั้นพื้นฐานหน่วยละ  ๔๐  ครอบครัว  โดยที่แต่ละหน่วยการผลิตมีอิสระในการตัดสินใจเต็มที่  นอกจากนี้ยังยินยอมให้ชาวไร่ชาวนามีที่ดินขนาดเล็กเป็นของตนเอง  เพื่อผ่อนคลายความกดดันทางจิตใจของประชาชนที่ไม่มีสิทธิจะทำการผลิตเล็กๆ  น้อยๆ  ของตนเองมาก่อนในระยะก่อนหน้านี้
                        (๓)  การพัฒนาเศรษฐกิจการค้ากับต่างประเทศ  หลังจากใช้นโยบายก้าวกระโดดไกล  สาธารณรัฐประชาชนจีนเริ่มติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น  และยังสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศด้อยพัฒนาอีกด้วย  จากการที่สินค้าของสาธารณรัฐประชาชนจีนส่วนมากราคาถูก  เนื่องจากค่าแรงต่ำเพราะกิจการทุกอย่างรัฐเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด  จึงทำให้สามารถครองตลาดในฮ่องกงและในเอเชียอาคเนย์ได้  อย่างไรก็ตาม  นโยบายก้าวกระโดดไกลทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนก็มีข้อบกพร่องที่นำไปสู่ปัญหาสำคัญ  นั่นก็คือ  การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนอยู่ในขอบเขตและปริมาณที่จำกัด  ทั้งนี้เพราะมุ่งให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม  รวมทั้งการใช้แรงงานคน  แต่ละทิ้งการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและการวางแผนระยะยาวจากส่วนกลางอย่างจริงจัง
                ๓.  ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  การสร้างจิตสำนึกแบบสังคมนิยมให้แก่ประชาชน  โดยกำหนดแนวทางดังนี้
                        (ก)  มุ่งให้ประชาชยอมรับและเข้าใจในระบอบการปกครอง  แนวทางทางการเมืองที่ใช้อยู่  โดยให้รู้ถึงขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์
                        (ข)  สร้างจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักถึงความเหนือกว่าของระบอบสังคมนิยม  และความเลวร้ายของระบอบทุนนิยม
                        (ค)  จัดระบอบการศึกษาให้กระจายออกไปอย่างทั่วถึงยังบริเวณโรงงาน  เหมืองแร่  และไร่นา  โดยเป็นการให้การศึกษาหลังชั่วโมงการทำงาน  เพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือ  และเสริมความรู้พื้นฐานสำหรับการผลิต  อันจะทำให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้มากขึ้นและปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
                        (ง)  เปิดโอกาสให้กับลูกหลานกรรมกรชาวนา  ซึ่งมีจำนวนมากกว่าร้อยละ  ๕๐  ของนักศึกษาทั้งหมดได้เข้าเรียนหนังสือโดยรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุน  ในขณะเดียวกัน  นักศึกษาปัญญาชนก็ต้องได้รับการฝึกให้ใช้แรงงานที่นับเป็นขั้นตอนสำคัญของการสร้างสังคมในระบอบใหม่
                การกำหนดนโยบายต่างประเทศ  ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน  มีสาเหตุหลายประการที่เป็นปัจจัยในการกำหนดแนวทางความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  คือ
                        ก.  ประสบการณ์ในอดีตที่ถูกต่างชาติเอารัดเอาเปรียบ  ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ    ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องดำเนินนโยบายที่จะต้องเลือกประเทศที่มีแนวโน้มจะเป็นมิตรกับตนอย่างแท้จริง
                        ข.  ความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูประเทศหลังสงครามกลางเมือง  ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนต้องการมีความสัมพันธ์กับมิตรประเทศที่อาจให้ความช่วยเหลือตนได้  ใน  ค.ศ. ๑๙๔๙  สาธารณรัฐประชาชนจีนก็ต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากธรรมชาติอย่างรุนแรง  ได้แก่  น้ำท่วม  ความแห้งแล้ง  ไต้ฝุ่น  พายุลูกเห็บ  แมลงศัตรูพืช  และโรคระบาดในสัตว์ประเภทโค  กระบือ  ซึ่งเกิดขึ้นติดต่อกันมาตลอดฤดูใบไม้ผลิ  ฤดูร้อน  และฤดูใบไม้ร่วง  ที่ประมาณความเสียหายได้ว่าประชาชนจีนจำนวน  ๔๐  ล้านคน  ตกอยู่ในภาวะความเดือดร้อนในระดับต่างๆ  กัน  และภัยพิบัติเหล่านี้ทำให้จำนวนผลิตผลประเภทอาหารของชาติต้องลดลงอย่างมาก  สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงต้องหามิตรประเทศอันอาจเป็นแหล่งที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้
                        ค.  สาธารณรัฐประชาชนจีนดำเนินนโยบายต่างประเทศในลักษณะใกล้ชิดสนิทสนมกับประเทศต่างๆ  ที่ให้การรับรองรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของตน  ผลจากการที่นานาชาติรับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์  เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์สามารถยึดแผ่นดินใหญ่ได้ทั้งประเทศ  รัฐบาลสหภาพโซเวียตจึงประกาศรับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ทันที  และกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์อื่นๆ  ก็ประกาศรับรองเช่นเดียวกัน     ส่วนประเทศอื่นที่ได้ให้การรับรองก็มี  อินเดีย  และพม่า  รับรองรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ปลาย  ค.ศ. ๑๙๔๙  ส่วนชาติอื่นที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อมาคืออัฟกานิสถาน  ศรีลังกา  เดนมาร์ก  ฟินแลนด์  อิสราเอล  อินโดนีเซีย  เนเธอร์แลนด์  นอรเว  ปากีสถาน  สวีเดน  และสวิตเซอร์แลนด์  ส่วนมหาอำนาจตะวันตกประเทศแรกที่รับรองจีนคอมมิวนิสต์  คือ  อังกฤษ  เพราะอังกฤษต้องการที่จะคุ้มครองผลประโยชน์ของตนทีมีอยู่มากมายในสาธารณรัฐประชาชนจีน  รวมทั้งฮ่องกงซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษด้วย  ตลอดจนต้องการความสะดวกในการค้าขายกับจีนคอมมิวนิสต์ 
เด็กๆในคอมมูนยืนคอยต้อนรับประธานเหมา
                        ง.  สาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบายจะผนวกเกาะไต้หวัน  ซึ่งพรรคก๊กมินตั่งได้หลบหนีถอยร่นไปตั้งรัฐบาลสาธารณรัฐจีนอยู่ที่นั่น  เมื่อสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงใน  ค.ศ. ๑๙๔๙  แล้ว  พรรคก๊กมินตั่งยังได้ทิ้งกำลังทหารของตนไว้ทางตะวันตกของจีนแผ่นดินใหญ่  คือ  ซินเกียงและทางตอนใต้คือเกาะไฮนาน  (ไหหลำ)  แต่กำลังฝ่ายจีนคอมมิวนิสต์ได้โจมตีเกาะไฮนานและยึดได้สำเร็จในเดือนเมษายน  ค.ศ. ๑๙๕๐  หลังจากการพ่ายแพ้ในครั้งนี้แล้ว  เจียงไคเช็คได้ประกาศว่าจะส่งกองทัพบุกขึ้นแผ่นดินใหญ่ภายใน  ๒  ปี  แต่เจียงไคเช็คไม่สามารถทำได้  ในขณะเดียวกัน  จีนคอมมิวนิสต์ก็มีนโยบายที่จะใช้กำลังโจมตีเกาะไต้หวันเพื่อผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน  แต่มิอาจทำตามนโยบายนี้ได้  เพราะมีกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาให้ความคุ้มกันอยู่
คำอธิบายศัพท์
                คอมมูน  คือ  องค์การเอนกประสงค์ซึ่งรวมหน่วยการเมือง  การปกครอง  และการบริหารทั้งหมดเข้าด้วยกัน  ทำหน้าที่ดูแลการดำเนินการทุกอย่างเพื่อการอยู่ร่วมกันของประชาชนในชุมชน  ทั้งด้านเศรษฐกิจ  การเมือง  การทหาร  การศึกษา  วัฒนธรรม  และสาธารณสุข  และยังมีธนาคาร  โรงเรียน  โรงพยาบาล  ร้านค้า  ศาลาประชาชน  และหน่วยฝึกทหารอีกด้วย  นอกจากนั้น  คอมมูนยังมีหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลกับสมาชิกของคอมมูนในด้านประสานนโยบาย  เผยแพร่และให้การศึกษาลัทธิการเมือง  ดูแลความสงบสุขของสมาชิก  ฝึกหัดการทหาร  และเก็บภาษีส่งให้รัฐบาล  เป้าหมายสำคัญก็เพื่อเน้นพัฒนาการเกษตร  ในอันที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำระหว่างฐานะของเกษตรกรในชนบทกับกรรมการและมวลชนในเมือง
................................................................................................................................................................................................................
คำถามท้ายบท เรื่อง ประเทศจีนหลังสงครามกลางเมือง
1. หลังสงครามกลางเมือง ประเทศจีนมีการจัดการปกครองภายในประเทศอย่างไร อธิบาย
2. หลังสงครามกลางเมือง ประเทศจีนมีการกำหนดนโยบายต่างประเทศ อย่างไร อธิบาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น